เมืองสองแคว ผลิตพลังงานทดแทน แปลง ขยะพลาสติก เป็น น้ำมัน


กระแส "พลังงานทดแทน" ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ และเมืองสำคัญๆ ทั่วโลกหันมารณรงค์การใช้พลังงานทดแทนน้ำมันกันอย่างกว้างขวาง


เช่นเดียวกับ เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ก็เป็นหนึ่งในผู้นำท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญของพลังงานทดแทน โดยเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรที่มีศักยภาพให้จัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะขึ้น


ต่อมา ส่วนอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานหมุนเวียน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ก็สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แปรรูป "ขยะ" เป็น "น้ำมัน" ไว้ใช้ในชุมชน

อปท.ที่เข้าเงื่อนไขต้องมีขยะไม่น้อยกว่า 30 ตันต่อวัน และต้องมีขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบไม่น้อยกว่า 6 ตันต่อวัน และมีขยะในหลุมฝังกลบไม่น้อยกว่า 1 แสนตัน !!


ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการแปรรูปจากขยะเป็นน้ำมัน เป็นโครงการเพื่อการสนับสนุนในรูปแบบงานศึกษาวิจัยพัฒนา และสาธิต เพื่อเป็นโครงการนำร่อง โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดสรรงบประมาณ 105 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน อปท.ที่ร่วมโครงการ


อปท.ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินค่าลงทุนระบบคัดแยก และระบบแปรรูปขยะเป็นน้ำมัน ไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินลงทุนระบบคัดแยก และแปรรูปขยะเป็นน้ำมัน รวมทั้งเงินสนับสนุนค่าที่ปรึกษาออกแบบระบบไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินลงทุน



อย่างไรก็ตาม วงเงินสนับสนุนรวมต้องไม่เกิน 35 ล้านบาทต่อแห่ง โดย เทศบาลนครพิษณุโลก ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้การสนับสนุนตามข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ในการยื่นข้อเสนอ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา


สำหรับโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2551 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเดินระบบได้เต็มที่ประมาณเดือนกันยายน 2552


เมื่อแล้วเสร็จเทศบาลนครพิษณุโลกจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากกว่า 16 ตันต่อวัน และนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 10,400 ลิตรต่อวัน


นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เผยถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์เพื่อจ้างที่ปรึกษาศึกษา และออกแบบระบบ รวมทั้งจ้างเหมาก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องจักรระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน


สำหรับงบประมาณในการดำเนินการจะแยกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้


1.ค่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบ 10 ล้านบาท


2.ค่าจ้างเหมาก่อสร้าง 102 ล้านบาท แยกย่อยเป็น


2.1 ระบบคัดแยกขยะมูลฝอย ค่าเครื่องคัดแยกแบบละเอียด และทำความสะอาด 5 ล้านบาท


2.2
ระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน ค่าเครื่องจักรแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน 87 ล้านบาท


 2.3 ค่าก่อสร้างอาคารโรงงานและส่วนประกอบ 8 ล้านบาท


 2.4 ค่าอุปกรณ์ความปลอดภัย และเครื่องมือทดสอบ 2 ล้านบาท

 รวมทั้งหมด 112 ล้านบาท


นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ระบุว่า เทคโนโลยีการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นนวัตกรรมทางเลือก โดยจะเปลี่ยนขยะพลาสติกจากระบบจัดการขยะ หรือขยะพลาสติกเก่าที่ตกค้างอยู่ในหลุมฝังกลบ ซึ่งมีอยู่กว่า 10 ล้านตันทั้งประเทศเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยวิธีการเผาในเตาเผาแบบไพโรไลซิส ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์เป็น "เชื้อเพลิงเหลว" ที่สามารถนำไปผ่านกระบวนการกลั่นให้เป็นน้ำมันได้ 


ทั้งนี้ จากการศึกษาความเป็นไปได้ เทศบาลนครพิษณุโลก จะสามารถกำจัดขยะพลาสติกได้ 5,760 ตันต่อปี แปรรูปเป็นน้ำมันได้ 4.32 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าพลังงานทดแทน (ที่ราคาน้ำมันสังเคราะห์ลิตรละ 18 บาท) รวม 77.76 ล้านบาทต่อปี


หากทุกฝ่ายร่วมมือในการนำขยะพลาสติกทั่วประเทศ 1.1 ล้านตันต่อปี มาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มกำลังการผลิตจะได้น้ำมัน 733 ล้านลิตรต่อปี และจะทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ราวๆ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์