เตือนแมงกะพรุนพิฆาต อาละวาดเกาะพีพี

ทช.ทำหนังสือด่วน เตือน"แมงกะพรุนกล่อง"ระบาดหนักหมู่เกาะพีพี นักท่องเที่ยวถูกนำตัวส่งรพ.เพียบ พิษรุนแรงโจมตีหัวใจ ระบบประสาท เซลล์ผิวหนัง

นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ว่า ขณะนี้ทช.ได้ทำหนังสือด่วน เพื่อเตือนเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และผู้ว่าราชการ จ.กระบี่ ว่า ขณะนี้มีแมงกะพรุนกล่อง หรือ Box Jellyfish ที่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวที่ลงไปดำน้ำเล่น ได้ระบาดเข้าไปในเกาะพีพีแล้ว ล่าสุดพบว่ามีนักท่องเที่ยวโดนพิษต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลกระบี่และสถานีอนามัยเกาะพีพี จำนวนมาก
 
"เนื่องจากแมงกะพรุนกล่องถือเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษอันตรายมาก พิษจะเข้าไปโจมตีหัวใจ ระบบประสาท และเซลล์ผิวหนัง ทำให้หัวใจล้มเหลว และสร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เพราะมีเข็มพิษกว่าล้านเซลล์ตามหนวดที่ยืดออกมาได้ไกล 2-3 เมตร และด้วยลักษณะตัวของมันที่ค่อนข้างใส ทำให้มองเห็นยาก จนกว่าจะถูกประชิดตัวแบบจังๆ นอกจากนี้ มันยังมีความพิเศษเพราะมันมีดวงตา และเข้าหาอาหารเองได้ จากปกติแมงกะพรุนชนิดอื่นๆ จะลอยไปตามกระแสน้ำ โดยวงจรชีวิตของมันยังเกี่ยวข้องกับพื้นที่นำกร่อย ป่าชายเลน จึงสามารถเจอแมงกะพรุนกล่องตั้งแต่ขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน 3-4 ซม.และตัวเต็มวัยขนาดเท่าฝ่ามือ" นายวรรณเกียรติ กล่าว  
 
นายวรรณเกียรติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 เดือน ที่ผ่านมาทช.เคยทำหนังสือเตือนเรื่องแมงกะพรุนตัวนี้ไปแล้ว

แต่ในขณะนั้นพบที่ อ่าวน้ำบ่อ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำกร่อย แมงกะพรุนกล่องที่พบจะเป็นตัวอ่อน ทั้งนี้ปกติแล้วแมงกะพรุนทั่วไปจะเคลื่อนไหวโดยใช้กระแสน้ำ แต่แมงกะพรุนกล่องจะมีลักษณะพิเศษคือ สามารถเคลื่อนไหวเองได้ เพราะมีตา คาดว่าเป็นเพราะบริเวณดังกล่าวมีอาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น จึงเคลื่อนที่ตามแหล่งอาหารและไปเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่เกาะพีพี
 
นายวรรณเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีรายงานว่ามีแมงกะพรุนชนิดนี้ระบาดมาก่อน แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

เริ่มมีการระบาดของแมงกะพรุนกล่องในเขตอันดามันมากขึ้นเรื่อยๆ ยังหาสาเหตุที่ชัดไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร สถาบันฯภูเก็ตร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่จะนำเอาแมงกะพรุนชนิดนี้มาเพาะเลี้ยง เพื่อศึกษาวงจรชีวิตอย่างละเอียด เพื่อหาวิธีการผลิตยาแก้พิษ เพราะปัจจุบันรักษาพิษกันตามอาการเท่านั้น ส่วนการแก้พิษเบื้องต้น ทำได้โดยการใช้น้ำมันสายชู และน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียล ขึ้นไปล้างบริเวณที่โดนพิษ โดยและห้ามใช้น้ำเย็นโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายรวดเร็วขึ้น จากนั้นก็รีบไปพบแพทย์ทันที


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์