ออเดอร์ส่งออกปักหัวลง 40% รับมือวิธีรัดเข็มขัด คลาสสิกงดโอที-หั่นโบนัส

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า

ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลกับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเพราะมีทั้งปัจจัยภายนอกคือปัญหาวิกฤติการเงินโลก ที่จะทำให้การส่งออกไทยลดลง และปัจจัยการเมืองภายในที่จะผสมโรงให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยคือจะทำอย่างไรให้ปัญหาการเมืองยุติโดยเร่งด่วน หากปัญหาการเมืองไม่ยุติโดยเร็วและยืดเยื้อเช่นปัจจุบัน ในปี 2552 ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าปี 2540


“สาเหตุสำคัญคือปัญหาการเมือง ส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การเมืองเป็นหลักมากกว่าจะยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชาติ และมาตรการที่ออกมาดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ไปในทิศทางที่สอดคล้องและนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง โดยการส่งออกไตรมาส 4 ปีนี้จากการสอบถามสมาชิกคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ลดลงแล้วเฉลี่ย 15-20% ผู้ประกอบการต้องแก้ สถานการณ์ด้วยการไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดรอบการทำงานลง และในสิ้นปีนี้คงยากที่จะเห็นการจ่ายโบนัส หรือหากจ่ายก็คงจะลดลงโดยเฉลี่ยกว่าปีที่แล้วในหลายๆกิจการ”


ขณะที่ไตรมาส 1 ของปี 2552 ออเดอร์ ส่งออกมีแนวโน้มจะลดลง 30-40%

ซึ่งจะส่งผลให้กระทบที่อาจต้องปลดแรงงานประมาณ 1 ล้านคน แต่หากตลอดปีหน้า ปัญหาการเมืองของไทยยังไม่ยุติและไม่สามารถดูแลปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร ก็มีแนวโน้มอาจมีการปลดคนงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ทั้งแรงงานเก่าและแรงงานจบใหม่ อย่างไรก็ตามถือว่าโชคดีที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ยังพอให้ส่งออกได้
“ปีหน้าผู้ประกอบการจะผลิตขายใคร แถมไทยยังมีปัญหา 3 จังหวัดใต้ ปัญหากัมพูชามาซ้ำเติม จึงมั่นใจว่าวิกฤติปี 2552 อาจจะรุนแรงกว่าปี 2540”


นายสมมาตกล่าวว่า

รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการออกมาแบบเร่งด่วน ในการฟื้นสภาพคล่องของเอกชนและแรงซื้อของประชาชนด้วยการ
1. ดูแลค่าบาทให้มีเสถียรภาพแข่งขันได้ 2. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3. ลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงจากปัจจุบัน 30% ลงมาเหลือ 20% 4. เร่งตั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท หรือปล่อยกู้ผ่านธนาคารของรัฐบาลเพื่อช่วยธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)


สำหรับมาตรการต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สามารถอัดฉีดไปสู่รากหญ้าได้อย่างแท้จริง ส่วนการไปโรดโชว์ดึงการลงทุนและการหาตลาดส่งออกนั้นพบว่าฝ่ายราชการต่างฝ่ายต่างก็ทำงานกันเอง เจ้าหน้าที่รัฐพากันไปแบบไม่จำกัดจำนวน แต่จัดสรรให้ภาคเอกชนร่วมคณะไปเพียงครั้งละ 1-2 คนเท่านั้น 


นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า

ในปีหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมอันดับต้นๆที่น่าห่วงคืออุตสาหกรรมส่งออก ที่อาจจะมีการลดคนงาน เช่น ยานยนต์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เซรามิก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกล เพราะจนถึงขณะนี้ ออเดอร์ในไตรมาสแรกของปีหน้าก็ยังไม่มีเข้ามา ต่างจากปกติที่ออเดอร์จะทยอยเข้ามาใน 3 เดือนสุดท้ายของปี เพื่อเริ่มผลิตป้อนสินค้าส่งมอบให้ลูกค้าในไตรมาสแรกของปีหน้า ทำให้ผู้ประกอบการหลายๆรายไม่กล้าขยับตัวลงทุนหรือขยายกิจการ คาดว่าเบื้องต้นความเสียหายอาจมีมูลค่าเกิน 100,000 ล้านบาทแล้วในขณะนี้
“สิ่งที่น่าห่วงคือสินค้าเกษตรของไทย เช่นยางพารา ที่มีราคาตกต่ำต่อเนื่อง หรือกรณีของปาล์มน้ำมัน ที่ ส.อ.ท.ต้อง การให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่า ยังเดินหน้าสนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกต่อไปเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลหรือไม่ ในสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเริ่มลดลง เพราะคนจะหันไปใช้น้ำมันแทนพลังงานทดแทนมากขึ้น”  


ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า

รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการตาม 6 มาตรการให้เกิดผลอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับ ประคองให้เศรษฐกิจในปีหน้าให้ขยายตัวอย่างน้อย 4% เป็นการช่วยให้คนไทยไม่ตกงานเพิ่ม เพราะหากเศรษฐกิจขยายตัวลดลง 1% จะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น 400,000 คน แต่หากไม่มีมาตรการใดออกมาเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะขยายตัวได้เพียง 3% นั่นหมายความว่าจะมีคนตกงานมากถึง 600,000-1 ล้านคน “หากเราสามารถดำเนินตามมาตรการทั้ง 6 ข้อให้ได้อย่างน้อย 80% ก็จะประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างน้อย 4% ก็จะทำให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้นอีก 400,000 คน หากทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 5% ก็มีคนมีงานทำเพิ่มขึ้น 800,000 คน แต่หากเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 3% ก็จะมีคนตกงานแน่นอน”. 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์