ถ่านผลไม้ดูดกลิ่นอับ ภูมิปัญญาไทยลดใช้พลังงาน


โครงการแผนพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน โดยนายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงพลังงาน เปิดโครงการจัดทำแผน "พลังงาน 80 ชุมชน สนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง" มาตั้งแต่ปี 2550 ที่ ต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช

ที่ อบต.นาหมอบุญกับชาวบ้านนั้น มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดที่มีอยู่ในชุมชน และชุมชนจัดการเองได้

โดยกระทรวงพลังงานถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชาวชุมชนได้เลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ทั้งเตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร เตาซุปเปอร์อั้งโล่ เตาชีวมวล และอื่นๆ ซึ่งล้วนไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่ร่วมกันทำ

นายอุทัยกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การต่อยอดความรู้การเผาถ่าน โดยทดลองและเรียนรู้จนสามารถนำผลไม้ที่เหลือทิ้ง ที่ถ้าปล่อยไว้ก็เน่าเสียหาย ให้กลายเป็นถ่านผลไม้ดูดกลิ่น ใส่บรรจุภัณฑ์สวยๆ ขายสร้างรายได้เพิ่ม

โดยใช้หลักการดูควัน และการจัดวางกองท่อนไม้ที่เผาถ่านและผลไม้ที่ต้องการเผา ซึ่งเป็นการประยุกต์ภูมิปัญญาการเผาถ่านแบบดั้งเดิมกับการเผาด้วยเตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พลังงานนำมาถ่ายทอดให้ ซึ่งมีทั้งแบบตั้งและแบบนอนให้เลือกใช้


"การเผาผลไม้เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านเอง จากเดิมที่ทางพลังงานมาแนะนำเรื่องการเผาถ่าน โดยเอาเศษไม้จากการตัดแต่งกิ่งไม้มาเผา แต่ชาวบ้านมีการต่อยอด โดยตั้งสมมติฐานว่า น่าจะลองเผาวัสดุอื่นๆ ที่เป็นพืชดู เช่น สับปะรด มังคุด เงาะ กะลามะพร้าว ใบไม้ ดอกไม้ และจากการทดสอบของชาวบ้านก็พบว่า สามารถเผาผลไม้ให้เป็นถ่านได้เช่นกัน"

ข้อค้นพบของชาวบ้าน คือ การเผาผลไม้ซึ่งเดิมเตาเผาธรรมดาที่เคยใช้กัน ไม่สามารถเผาพวกเปลือกบางๆ อย่างผลไม้ ใบไม้พวกนี้ได้ แต่เตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร ที่กระทรวงพลังงานนำมาเผยแพร่นี้เมื่อเรารู้หลักการดูควัน
 
และการจัดวางตำแหน่งในเตาเผาว่าวางตรงจุดไหนอย่างไรไม่ให้เป็นมอดไหม้เป็นขี้เถ้าไปเสียก่อน ก็ทำให้สามารถเผาสิ่งที่เผาได้ยากอย่างผลไม้ให้กลายเป็นถ่านที่ยังคงลักษณะคงเดิม กระบวนการเผาที่เรียนรู้ คือ เวลาเผาก็เผาพร้อมกับท่อนไม้ที่เราต้องการเผาถ่าน

โดยให้ท่อนไม้อยู่ด้านล่าง แล้ววางผลไม้ที่ต้องการเผาไว้ด้านบน ทำให้เมื่อเผาผลไม้ไม่มอดไหม้ไปก่อนถ่านไม้ที่เผา ถือเป็นภูมิปัญญา และชาวบ้านก็ยังคงทดลองและเรียนรู้กันต่อไป โดยการนำอะไรแปลกๆ มาเผา ซึ่งก็อาจค้นพบหรือสร้างความรู้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อีก

วันนี้ชาวบ้านสามารถนำผลผลิตทางการเกษตร ที่ผลิตขึ้นแล้วขายไม่ทัน เกิดการเน่าเสีย หรือราคาตก ไม่ว่าจะเป็นสับปะรด มังคุด เงาะ และพืชผักผลไม้อื่นๆ มาเผาให้เป็นถ่านนำออกขายเป็นผลิตภัณฑ์ดูดกลิ่นในตู้เย็น ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อนำมาใส่บรรจุภัณฑ์สวยๆ ก็สามารถขายได้ราคา 5-10 บาท นับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

ชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชน กับกระทรวงพลังงานในปี 2552 สามารถสมัครได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด หรือศูนย์ประสานงานกลางการวางแผนพลังงานชุมชน โทร.0-2223-3344 ต่อ 2262-3

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์