ปตท.เดินหน้าทาบบริษัทยักษ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีลดต้นทุน

ปตท.เดินหน้าเจรจาพันธมิตรใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนน้ำมันดีเซล

เผย "เบียร์ช้าง" เริ่มทดลองแล้ว คาดเบียร์สิงห์-ซี.พี.จะเข้าร่วมโครงการในเร็วๆ นี้ "ประเสริฐ บุญสัมพันธ์" เร่งวางท่อย่อยก๊าซธรรมชาติ-ตั้งสถานีบริการเอ็นจีวีรายทาง ตั้งเป้าปลายปี 2549 ครบ 200 แห่ง เหนือสุดที่เชียงราย-ใต้สุดที่สงขลา อีสาน-ตะวันออกหาเติมสบาย

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ว่า ขณะนี้ได้มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายได้ให้ความสนใจและต้องการจะปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรถบรรทุกเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าจากการใช้น้ำมันดีเซลมาเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ เอ็นจีวี (NGV) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ตัวเอง

ทั้งนี้บริษัทได้เริ่มทดลองปรับเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซลมาเป็นก๊าซเอ็นจีวีแล้ว เบื้องต้นมีบริษัทเบียร์ไทย (1991) จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟฯ หรือเบียร์ช้าง โดยขณะนี้ประเมินผลอยู่ว่าจะมีผลต่อเครื่องยนต์หรือไม่ อย่างไร

นายประเสิรฐกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีรายอื่นๆ ที่เตรียมเข้ามาเจรจาทดลองเพื่อใช้เพิ่มเติม ได้แก่ บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซี.พี. ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าจะขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีออกไปยังทุกๆ ภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมันดีเซลให้มากที่สุด

"วันนี้หากธุรกิจไม่ปรับตัวก็ไม่สามารถแข่งขันได้ในภาวะที่ทั้งราคาน้ำมันก็แพง ค่าไฟฟ้าก็แพงขึ้น

ฉะนั้นอะไรที่ลดต้นทุนและเป็นทางเลือกได้ ก็ควรทำ ปตท.ในฐานะผู้จัดหาพลังงานเราก็เร่งให้มีการวางท่อย่อยก๊าซธรรมชาติไปยังนิคมอุตสาหกรรมและเร่งกระจายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีให้มากขึ้นด้วย ทั้งหมดจะช่วยทดแทนการใช้น้ำมันได้ถึง 20%"

นายประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ท่อย่อยก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ก็คือท่อก๊าซธรรมชาติไทรน้อย-พระนครเหนือ/ใต้ ซึ่งในพื้นที่ที่มีท่อพาดผ่าน ปตท.ก็จะเร่งสร้างสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีด้วย โดย ปตท.ตั้งเป้าจะขยายสถานีเอ็นจีวีให้ได้ทั้งสิ้น 200 แห่งทั่วประเทศ

ภายในสิ้นปี 2549 โดยเหนือสุดของประเทศจะมีสถานีบริการเอ็นจีวีที่เชียงราย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุดรธานี 2 แห่ง และขอนแก่น 3 แห่ง ส่วนภาคใต้จะมีที่สงขลา และภาคตะวันออกที่ชลบุรีและระยอง

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มรายใหญ่รายหนึ่งกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้แม้ว่าก๊าซเอ็นจีวีจะเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งสำหรับการลดต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในการขนส่ง แต่เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบของรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากดีเซลมาเป็นเอ็นจีวีนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งจะต้องมีการศึกษาถึงผลดีผลเสียอย่างยิ่งในแง่ของเครื่องยนต์ว่าจะเป็นอย่างไร ประกอบกับปัจจุบันสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีที่ ปตท.มีอยู่ก็ยังไม่มากนัก และส่วนใหญ่ก็เป็นสถานีที่รองรับการใช้บริการของรถแท็กซี่เป็นหลัก

"โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และเมื่อทุกอย่างพร้อม เราก็พร้อมจะให้ความร่วมมือและหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทนน้ำมันดีเซลในการขนส่ง"

แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเพิ่มเติมเข้ามาว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2563 โดยปี 2548 จะใช้ก๊าซธรรมชาติ 255 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนน้ำมันเตา 2,300 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านบาท/ปี พอมาถึงปี 2553 จะใช้ก๊าซ 520 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนน้ำมันเตา 4,800 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 54,000 ล้านบาท/ปี และปี 2563 จะใช้ก๊าซ 1,250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนน้ำมันเตา 11,600 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านบาท/ปี

สำหรับสัดส่วนการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคขนส่งตั้งเป้าไว้จะเพิ่มจากร้อยละ 0.4 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2563 โดยในปี 2548 ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 7 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนน้ำมันเบนซิน/ดีเซล 80 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาทต่อ/ปี ปี 2553 ใช้ก๊าซ 365 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนเบนซิน/ดีเซล 3,700 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 64,000 ล้านบาท/ปี และปี 2563 จะใช้ก๊าซ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนเบนซิน/ดีเซล 10,150 ล้านลิตร/ปี หรือคิดเป็นมูลค่า 175,000 ล้านบาท/ปี





แหล่งข่าว : มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์