เตือนภัยแมงกะพรุนกล่องโผล่

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายสมชัย บุศราวิช หัวหน้าสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต จ.ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ตได้รับอนุมัติงบประมาณจาก ทช. เพื่อให้ดำเนินการทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การพบแมงกะพรุนกล่องซึ่งมีพิษรุนแรงต่อมนุษย์ หลังจากช่วงระยะหลายปีหลังที่ผ่านมา มีรายงานว่า มีผู้ได้รับพิษจากแมงกะพรุนประเภทนี้จนถึงขั้นเสียชีวิตระหว่างลงเล่นน้ำทะเลในประเทศไทย จนเป็นเหตุมีนักท่องเที่ยวต่างชาติพยายามจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายที่เกิดจากสัตว์ชนิดนี้ขึ้น เพื่อความมั่นใจในการท่องเที่ยว

นายสมชัย กล่าวต่อว่า เมื่อต้นปีที่ที่ผ่านมา ตนได้รับการติดต่อจากนายแอนดรูว์ โจนส์ ซึ่งเป็นนักข่าวชาวออสเตรเลียที่พาครอบครัวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

และระหว่างพาลูกชายลงเล่นน้ำทะเลที่เกาะหมาก จ.ตราด ปรากฏว่าลูกชายสัมผัสกับแมงกะพรุนชนิดหนึ่งจนบาดเจ็บสาหัส เข้าโรงพยาบาลหลายวัน ทำให้ต้องยุติแผนการท่องเที่ยวไป หลังจากนั้นไม่นานนายแอนดรูว์เดินทางกลับมายังประเทศไทย และพยายามที่จะติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงได้เดินทางมาพบตนที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต พร้อมกับนำข้อมูลที่ค้นหามาได้มาแจ้งให้ทราบว่าแมงกะพรุนที่ลูกชายของตนสัมผัสนั้นเป็นแมงกะพรุนชนิดที่เรียกว่าแมงกะพรุนกล่องซึ่งในประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญมาก เพราะมีอันตรายถึงชีวิต

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ลักษณะของแมงกะพรุนชนิดนี้จะมีเข็มพิษอยู่ในเซลล์จำนวนล้านๆเซลล์ และมีพิษรุนแรง ผู้ได้รับพิษ จะเจ็บปวด ทรมานมาก

ดังนั้นจึงควรมีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการรักษาเบื้องต้น การหลีกเลี่ยง รวมทั้งสร้างเครื่องมือป้องกันอย่างเข้มงวด ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรการใดๆ ทั้งนี้ นายแอนดรูว์บอกว่าเข้าใจว่าประเทศไทยอาจจะไม่เคยเจอแมงกะพรุนชนิดนี้มาก่อน แต่จากการสืบค้นข้อมูลด้วยตัวเอง พบว่าก่อนหน้านี้เคยมีนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน และอังกฤษเสียชีวิต เพราะถูกแมงกะพรุนชนิดนี้ในประเทศไทยมาแล้ว จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

นายสมชัยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ยังไม่เคยมีข้อมูลเรื่องของแมงกะพรุนกล่องมาก่อน ซึ่งอาจจะมาจากยังไม่มีนักวิจัยไทยเคยมีการทำการศึกษาเรื่องนี้

หรืออาจจะเป็นเพราะในท้องทะเลไทยไม่เคยมีแมงกะพรุนชนิดนี้ ซึ่งทีมคณะนักวิจัยของตนจะศึกษาวิจัยอย่างละเอียด สิ่งที่น่ากลัวคือว่ามันเคยอยู่ในประเทศไทยมาก่อน หรือว่าเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ติดมากับเรือเดินทะเล และอาจจะมาขยายพันธุ์ได้ในท้องทะเลของไทย ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะออกเก็บตัวอย่างทุกเดือนตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งติดต่อสถาบันวิจัยที่ประเทศออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ เพื่อตรวจสอบตัวอย่างที่เก็บได้จากทะเลอันดามันของไทยแล้ว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์