เตือน! กทม.ระวังน้ำทะเลหนุน21,28ก.ย. ชาวบ้านค้านแปลง บางปะหัน เป็น แก้มลิง บอกตายลูกเดียว

เตือน! กทม.ระวังน้ำทะเลหนุน21,28ก.ย. ชาวบ้านรุมค้านแปลงพท.บางปะหันเป็น "แก้มลิง" ชาวนา "บ้านกุ่ม" ฆ่าตัวตายประชดแล้ว 1 ศพหลังถูกปล่อยน้ำท่วมนาล่มจม ส.ส.สุพรรณฯ โวย บอกชาวบ้านตายลูกเดียว "ปราจีน" อ่วมน้ำท่วมสูง 80 ซ.ม. "ล่องแก่งหินเพลิง" เจ๊งนักท่องเที่ยว 1.6 พันแห่ยกเลิก อนาถ! "หญิงชรา" เก็บฟืนหนีน้ำไม่รอด จมดับคาใต้ถุนบ้านตัวเอง น้ำป่าทะลักแม่ฮ่องสอนสาว 40 ปีดับพร้อมจยย. หน่วยงานรัฐระดมความช่วยเหลืออย่างหนัก

ค้านแปลงพื้นที่บางปะหันเป็น "แก้มลิง"

นายกฤติภพ  เฉื่อยฉ่ำ นายกองค์การบิรหารส่วนตำบล(อบต.)ทับน้ำ อ.บางปะหัน  กล่าวเมื่อวันที่ 19 กันยายนถึงการแปลงพื้นที่ทุ่งบางบาล และทุ่งทับน้ำ อ.บางปะหัน เป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิง เพื่อโอบอุ้มสถานการณ์น้ำท่วมที่ถาโถมพื้นที่ภาคกลาง และหลายจังหวัดในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉ๊ยงเหนือ ว่า ยังไม่มีการประสานมาจากหน่วยงานใดว่าจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิง  แต่ทราบว่ามีการแอบปล่อยน้ำจากเจ้าพระยาผ่านคลองบางกุ้งมาแล้ว เชื่อว่าข้าวและพืชผลทางการเกษตรจะเสียหายอาจมีการเดินขบวนต่อต้านการทำงานของกรมชลประทานจากกลุ่มชาวนาที่ได้รับความเดือนร้อน
 
ชาวนา "บ้านกุ่ม" ฆ่าตัวตายประชดแล้ว 1 ศพ

ขณะที่นายบัญชา ปั้นดี ชาวนาต.บ้านกุ่ม กล่าวว่า เมื่อปี  2549  และ ปี 2550  มีการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในทุ่งดังกล่าวโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้ข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวเสียหายทั้งหมด ชาวนาทุ่งบางบาล  และทุ่งทับน้ำ  อ.บางปะหัน หลายหมื่นไร่ต้องแบกรับน้ำก้อนใหญ่นี้ไว้ เพื่อไม่ให้ท่วมปทุมธานี  นนทบุรี  และกรุงเทพฯ กรมชลประทานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะซ้ำเติมชาวนา

"ทุ่งนา ต.บ้านกุ่มเป็นเขตติดต่อเชื่อมโยงทุ่งนาเขต ต.พุทเลา ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน และ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ปัจจุบันเป็นแปลงนาข้าวนาปีที่กำลังเติบโตเขียวขจีพื้นที่ดังกล่าวเคยถูกให้เป็นพื้นที่รับน้ำเมื่อปี 2449 ซึ่งระดับน้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร และมีชาวนาในพื้นที่นาล่มจนต้องฆ่าตัวตายประชดชีวิตไปแล้ว 1 คนเมื่อน้ำท่วมหนักปี 2549" นายบัญชา กล่าว

ส.ส.สุพรรณฯ โวย บอกชาวบ้านตายลูกเดียว

นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย กล่าวว่า หากใช้พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นที่รับน้ำเหนือ จะส่งผลกระทบถึงจังหวัดที่มีพื้นทึ่ติดต่ออย่างแน่นอน โดยเฉพาะเขต อ.บางปลาม้า,สองพี่น้อง และ อ.เมืองสุพรรณบุรีบางส่วน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ และต้องเป็นรับน้ำตามธรรมชาติจากภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี อุทัยธานี ที่มาตามคลองจระเข้สามพัน และจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ทางประตูน้ำผักไห่ ลงคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน
"หากต้องมารับภาระตามแผนของรัฐบาล อาชีพเกษตรกรรมของคนสุพรรณบุรีถิ่นนี้ตายลูกเดียว ตั้งแต่บ่อกุ้ง บ่อปลา นาข้าว พืชไร่ล้มลุก และปีนี้น้ำท่วมมาตั้งแต่พฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยในความเสียหาย โดยเพิ่มจากนาข้าวที่เคยได้ไร่ละ 416 บาท  แม้มีกระแสข่าวจะเพิ่มเป็นไร่ละ 606 บาทเท่านั้น แต่เทียบกันไม่ได้กับการลงทุน หากดันทุรังให้พระนครศรีอยุธยาเป็นสถานที่รับน้ำ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องจับเข่านั่งคุยกันว่า หากเกิดความเสียหายจะชดเชยให้ประชาชนอย่างไร ขอให้ทำเป็นบันทึก” นายณัฐวุฒิ กล่าว
 
กทม.ระวังน้ำทะเลหนุน21,28ก.ย.
 
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วมฉุกเฉิน โดยนายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า ล่าสุด กรมชลประทานปล่อยน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 1,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที และเขื่อนพระราม 6 จ.ลพบุรี 400 ลบ.ม./วินาที รวมแล้วอยู่ที่ 2,100 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ถือว่าวิกฤต เพราะระดับวิกฤติที่จะต้องมากกว่า 2,500 ลบ.ม./วินาที แต่กรุงเทพฯอาจต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝน เพราะขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 1.87 เมตร จากกระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำเกิดน้ำท่วมขังกว่า 300 หลัง กว่า 2-3 ชั่วโมง ในช่วงเช้าและเย็นที่มีน้ำทะเลหนุนร่วมด้วย ซึ่งสำนักงานเขตทั้ง 17 แห่ง ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานำไม้กระดานเข้าไปช่วยทำทางเดินหนีน้ำ และยกตู้ เตียง และอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นในที่สูงแล้ว
 
ทั้งนี้ คาดว่าระหว่างวันที่ 21 และ 28 กันยายน ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่นอกแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย     
 
ประตูระบายน้ำประเวศฯช่วยกทม.
 
วันเดียวกัน นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. ลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำประตูระบายน้ำประเวศบุรีรมย์ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าแล้วร้อยละ 95 เตรียมเปิดใช้และพร้อมเดินเครื่องสูบน้ำได้ในสิ้นเดือนกันยายนนี้
"โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและจังหวัดปริมณฑล โดยผันน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และอ่าวไทย จะเป็นการช่วยเร่งระบายน้ำและลดปริมาณน้ำท่วมบริเวณเขตลาดกระบัง ประเวศ และจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลลงมาเร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง กำลังสูบเฉลี่ย 30 ลบ.ม./วินาที คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการสิ้นเดือนนี้ พร้อมกับสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองหกวาสายล่าง และกลางคลองแสนแสบ (หนองจอก) จะป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ สนามบินสุวรรณภูมิ และปริมณฑลได้อย่างดี" นายพงศ์ศักติฐ์กล่าว
 
จากนั้นนายพงศ์ศักติฐ์ไปมอบถุงยังชีพที่ชุมชนพระราม 6 เขตบางซื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
 
เตรียมของบกลางช่วยเกษตรกร

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ล่าสุด มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 17 จังหวัด พื้นที่เกษตรเสียหาย 678,344 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 499,894 ไร่ พืชไร่ 178,450 ไร่ พืชสวนและพื้นอื่นๆ 2,262ไร่ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เสียหายสิ้นเชิงมีประมาณ 110,395 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 76,942 ไร่ พืชไร่ 33,453 ไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 632 ล้านบาท โดยลพบุรีเสียหายมากที่สุด 50,039 ไร่ มูลค่า 433 ล้านบาท

นายสมศักดิ์กล่าวว่า หลังน้ำลดจะส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจความเสียหายอีกครั้งก่อนจะของบประมาณกลางปีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ คือ 1.กลุ่มพืช ข้าว 606 บาท/ไร่ พืชไร่  837บาท/ ไร่ พืชสวน 912 บาท/ไร่ 2.กลุ่มประมง ปลาทุกชนิด 3,406 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 5 ไร่,กุ้ง ปู หอยทะเล 9,098 บาท/ไร่  ไม่เกินรายละ 5 ไร่ บ่อและกระชั่ง 257 บาท/ ตร.ม. ไม่เกินรายละ 80 ตร.ม. 3. กลุ่มปศุสัตว์ โคกระบือ 15,800 บาท/ตัว ลดลงตามอายุ ขั้นต่ำอายุต่ำกว่า 6 เดือน ตัวละ 3,600 บาท ไม่เกินรายละ 2 ตัว , สุกร  1,200 บาท/ตัว ไม่เกินรายละ 10 ตัว, แพะและแกะ 1,400 บาท/ตัว ไม่เกินรายละ 10 ตัว, ไก่พื้นเมืองหรือลูกผสมพื้นเมือง 22.5 บาท/ตัว ไม่เกินรายละ 300 ตัว, ไก่เนื้อ-ไก่ไข่ 15 บาท/ตัว ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว, นกกระทา 12 บาท/ตัว ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว, ห่าน 50 บาท/ตัว ไม่เกินรายละ 300 ตัว, เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ไร่ละ 2 กก. 220 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่, ท่อนพันธุ์พืชอาหารสัตว์ ไร่ละ 250 กก. 625 บาท/ไร่  ไม่เกิน 20 ไร่ 4.กลุ่มอาหารสัตว์ อาคารสุกรตัวละ 10 กก. 100 บาท /ตัว, อาหารสัตว์ปีกตัวละ 0.5 กก. 5 บาท/ตัว

ปชป. เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
 
ด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยนั้น เมื่อเวลา 10.00 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยผู้บริหารพรรค ได้ทำการเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อรับบริจาคเงินและสิ่งของ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวเปิดศูนย์ ว่า พรรคได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของพรรคประชาในหลายพื้นที่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาส.ส.และสมาชิกของพรรคได้พยายามช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนมาตลอด แต่ผลกระทบครั้งนี้รุนแรงมาก จึงมีความจำเป็นที่ส่วนกลางจะต้องระดมการช่วยเหลือโดยเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ประสานงานเพื่อรับบริจาคเงินและสิ่งของ แต่อยากให้บริจาคเป็นเงินมากกว่าเพราะจะทำให้การช่วยเหลือทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีความต้องการแตกต่างกัน และจากวันนี้เป็นต้นไปผู้บริหารของพรรคจะลงพื้นที่เพื่อนำเงินและสิ่งของไปช่วยเหลือ โดยในวันที่ 20ก.ย. ตนและคณะ จะลงไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมและแจกสิ่งของ ที่จ.ลพบุรีและ จ. สระบุรี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคสามารถเดินทางมาบริจาคได้ ณ ที่ทำการพรรค หรือโทรศัพท์ติดต่อมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2270-0036

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสิ่งของที่ประชาชนบริจาคเข้ามาที่พรรคมีเป็นจำนวนมากทั้งน้ำดื่ม ข้าวสาร ผ้าห่มและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  รวมทั้งยอดเงินบริจาคเบื้องต้นที่มีผู้บริจาคเข้ามาแล้วกว่า 1 ล้านบาท

สตช. ส่งตชด. ลงพื้นที่บรรเทาทุกข์

ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.)  ในฐานะรองโฆษก ตร. กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ว่า ทาง ตร. กำชับไปยังตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ตำรวจภูธรภาค1-9 และนครบาล ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนกับผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งสนธิกำลังกับหน่วยราชการในพื้นที่ เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งขณะเกิดน้ำหลากและน้ำท่วมถึง ในการส่งอาหาร ยา ให้เพียงพอ

สั่งคุมเข้มหวั่นมิจฉาชีพฉวยโอกาส

พล.ต.ต.สุรพล  กล่าวว่า ในส่วนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย โดยปล่อยบ้านให้รกร้างหรือนำทรัพย์สินมาวางกองในพื้นที่แห้ง และปรากฏว่ามีการลักทรัพย์เกิดขึ้นจำนวนมาก ก็ให้ตำรวจร่วมกับอาสาสมัคร(อส.)ในแต่ละจังหวัดวางกำลังป้องกัน รวมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ พร้อมประสานผู้นำชุมชนตรวจสอบหาพื้นที่ที่ถูกละเลย เพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือ สำหรับในส่วนของสถานที่ราชการ รวมทั้งบ้านพักตำรวจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยก็ให้เข้าไปดูแลและเยียวยา

ปราจีนน้ำหลาก "ดงขี้เหล็ก" กระทบหนัก
 
ขณะที่จ่าสิบเอกธีรชาติ ชื่นบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำหลากจากน้ำตกวังบ่อ – เขามดแดง เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรพื้นที่ตีนเขา ประกอบด้วย พื้นที่ หมู่ที่ 8 - หมู่ที่ 13 ต.ดงขี้เหล็ก ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา มีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร รวมทั้งน้ำท่วมถนนสายสุวรรณศร ( ปราจีนบุรี – ประจันตคาม) ตั้งแต่หน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา – ปั้มน้ำมัน ปตท. –หน้าบริษัทฮาตาริ หมู่ 7 ต.ดงขี้เหล็ก ส่วนบนผิวถนนมีระดับน้ำสูง 10-20ซ.ม.  มีรถวิ่งผ่านไปมาได้สะดวก อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบกว่า 20 ครัวเรือน จึงช่วยเหลือเบื้องต้นโดยขอกำลังทหารสนับสนุน จาก ร.2 พัน 1 รอ.กว่า 50 นายและหน่วยกู้ภัยร่วมกตัญญูให้เร่งเปิดเส้นทางให้น้ำระบายลงคลองให้สะดวกต่อไป

"ล่องแก่งหินเพิง" เจ๊งนักท่องเที่ยว 1.6 พันยกเลิก

นางฉลาด  สโมสร ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจเรือยางล่องแก่งหินเพิง กล่าวว่า จากข่าวน้ำป่าไหลหลากทำให้นักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด กว่า 1,600 ราย ยกเลิกการล่องแก่งหินเพิงบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ในสุดสัปดาห์นี้  ทั้งที่โดยสภาพข้อเท็จจริงแล้วสามารถล่องแก่งได้สนุกสนานและปลอดภัย ระดับน้ำไม่เป็นอันตรายและไม่มีน้ำป่าไหลหลาก ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คอยแจ้งเตือนระดับน้ำ และมีระบบเตือนภัย

ยันความปลอดภัย "ล่องแก่ง" ไม่อันตราย
 
นายดำริห์  รัตนชินกร รองประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจเรือยางล่องแก่งหินเพิง กล่าวว่า ผู้ประกอบการอยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาพบข้อเท็จจริง ในการผจญภัยล่องแก่งหินเพิง หากมาล่องแก่งแล้วไม่สนุกหรือปลอดภัยยินดีที่จะบริการที่พัก – อาหาร และการล่องแก่งฟรีทุกอย่าง แต่รับรองว่าเป็นช่วงที่สนุกที่สุด และไม่เป็นอันตราย

หญิงชราจมน้ำใต้ถุนบ้านที่พิจิตร
 
ที่จ.พิจิตร ร.ต.ท.อานนท์  เรืองวงศ์ ร้อยเวร สภ. เมืองพิจิตร ได้รับแจ้งว่ามีเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต ที่บ้านข้างวัดวังกลม ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร เมื่อคืนวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา จึงเดินทางพร้อมหน่วยกู้ภัยเข้าตรวจสอบพบบ้านดังกล่าวถูกน้ำป่าไหลเข้าท่วม มีระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งชาวบ้านช่วยกันงมขึ้นจากน้ำแล้ว ทราบชื่อ คือ นางบุญรอด  อินทรศูนย์  อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 350 หมู่ 1 ต.บ้านบุ่ง
 
จากการสอบสวนนายเฉลิม อินสูนย์ อายุ 75ปี  สามีนางบุญรอด ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุนางบุญรอดจะลงไปเก็บฟืนที่ลอยน้ำอยู่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งถูกน้ำท่วมสูง 2 เมตร เป็นเหตุให้ต้องมาเสียชีวิตดังกล่าว

130 หมู่บ้านเดือดร้อนหนักนาข้าวจมหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าของเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่จ.พิจิตร หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน และมีน้ำเหนือไหลลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ หมู่ที่ 4,7,11 ต.รังนก อ.สามง่าม ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ โดยมีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม  100 หลังคาเรือน ถนนเข้าออกหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องนำเรือออกมาใช้สัญจร ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนนำกระสอบทราย 200 ใบ มาปิดกั้นท่อระบายน้ำบริเวณพนังกั้นน้ำบ้านใหม่แสงมรกต หมู่ที่ 8 เพื่อป้องกันน้ำในแม่น้ำยมไหลเข้าท่วมนาข้าวและสวนส้มโอ ขณะที่นายปรีชา  เรืองจันทร์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ออกประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่นำน่าน และแม่นำยม ให้รีบขนย้ายสัตว์สิ่งของไว้ในที่สูง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ล่าสุด สูงเกินจุดวิกฤตและล้นตลิ่งแผ่ขยายวงกว้างมาก มีระดับน้ำเฉลี่ยวันละ 5-10 เซนติเมตร 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่จ.พิจิตร ล่าสุดมีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 9 อำเภอ 29 ตำบล 130 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5082 คน นาข้าวเสียหาย 30,000 ไร่ ถนนเสียหาย 91 สาย ทำนบกั้นน้ำเสียหาย 5 แห่ง และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย

พบผู้ป่วยแล้วกว่า 300 ราย

น.พ.พูลสิทธิ์ ศิติสาร นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมและป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)พิจิตร  กล่าวว่าได้ตรวจพบผู้ป่วย ด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมแล้วกว่า 300 ราย โดยเฉพาะโรคน้ำกัดเท้า , โรคไข้หวัด , โรคตาแดงและโรคอุจาระล่วงฉับพลัน  สสจ.พิจิตรจึงระดมทีมแพทย์ออกหน่วยเคลื่อนที่ตรวจรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วใน อ.ทับคล้อ และ อ.บางมูลนาก พร้อมมอบยาเวชภัณฑ์ 2,000 ชุด ให้ผู้ประสบภัย และสั่งสำรองยาเวชภัณฑ์เพิ่มอีก 5,000 ชุดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในสภาวะน้ำท่วม

น้ำป่าทะลักแม่ฮ่องสอนกลืน 1 ศพพร้อมจยย.

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่จ.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.รังสิต โลไทยสงค์ ผกก.สภ.แม่สะเรียง ได้รับแจ้ง เมื่อเวลา 20.30น. วันที่ 18 กันยายน เกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักจากลำห้วยกองงอง ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เข้าท่วมพื้นที่ระหว่างบ้านแพะ และ บ้านแม่ต๊อบใต้ ต.บ้านกาศ  ส่งผลให้มีชาวบ้านถูกน้ำพัดหายไปพร้อมรถจักรยานยนต์ จึงเดินทางพร้อม ร.ต.ท.ปณาวุธ โชติพงษ์ ร้อยเวร สภ.แม่สะเรียง  และอาสาสมัครตำรวจบ้านกาศ ออกค้นหาร่างผู้เสียชีวิตเป็นเวลานานกว่า 30 นาที พบมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อดรีมสีดำ หมายเลขทะเบียน คกธ ลพ 654 อยู่ลำห้วยริมทาง ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร พบศพนางศรีจันทร์ วนาสงบ อายุ 40 ปี บ้านแพะ ต.บ้านกาศ

จากการสอบสวน นายวิทยา วนาสงบ สามีผู้ตาย ให้การว่าก่อนเกิดเหตุตนและภรรยา ได้ขับรถจักรยานยนต์กลับจากเลี้ยงวัว เพื่อกลับที่พัก เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ขณะขับรถผ่านลำห้วยกองงอง เกิดน้ำป่าทะลักออกอย่างรวดเร็ว จึงถูกกระแสน้ำป่าพัดไปทั้งคนและรถทำให้ภรรยาจมน้ำและเสียชีวิต

พระบรมฯ พระราชทานถุงยังชีพช่วยชาวบ้านบางบาล

เมื่อเวลา 11.30 น. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อม ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ติดตามคณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน ที่จ.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา หลังพบว่าชาวบ้านอ.บางบาล ได้รับความเดือนร้อนจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ไหลเข้าท่วมชุมชนสูง 1 เมตร  2,000 หลังคาเรือน ประชาชนเดือนร้อนกว่า 8,000 ราย โดยพบว่าประชาชนเป็นโรคไข้หวัด โรคผื่นคันจากน้ำ และถูกสัตว์กัดต่อย พร้อมแจกจ่ายยาสามัญประจำบ้าน ถุงยังชีพ และออกตรวจสภาพสถานีอนามัย ต.วัดตะกู ที่ถูกน้ำท่วม

นายวิชาญ กล่าวว่า ในภาพรวมทั้งประเทศพบว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนเจ็บป่วยเพราะน้ำท่วม 30,265 ราย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ออกปฏิบัติหน้าที่วันละ 256 ทีม ส่วนใหญ่พบว่าเป็นโรคไข้หวัด อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า สัตว์กัดต่อย และแจกจ่ายยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว 30,000 กว่าชุด

"ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ การตกน้ำตาย ซึ่งพบว่า 27% เป็นผู้เมาสุรา ส่วนผู้ป่วยโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง หัวใจ เบาหวาน " นายวิชาญ กล่าว

ขนกระสอบกั้น "ตำหนักสิริยาลัย"

เมื่อเวลา 13.30น. วันที่ 19 กันยายน พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมคณะเดินทางตรวจการทำงานของทหารกองทัพบกและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาที่ร่วมกันทำแนวกำแพงกระสอบทรายและติดตั้งเขื่อนแบบชั่วคราว บริเวณด้านหน้าพระตำหนักสิริยาลัยตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวกว่า 500 เมตร สูงกว่า 2.5 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เขตพระตำหนัก หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มล้นตลิ่ง โดยพบว่ากำลังทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามเป้าหมาย 100%

ทัพบกพร้อมรุดส่งกำลังช่วยเหลือ

พล.ท.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทหารบกพร้อมให้ความร่วมมือกับจังหวัดและประชาชนในการป้องกันน้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน โดยเฉพาะส่งกำลังเข้าช่วยเหลือตามชุมชน วัด สถานศึกษา ส่วนราชการ โดยมีทั้งกำลังพลและอุปกรณ์พร้อม สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา

โคราชน้ำทะลักแปลงผักเสียหายเพียบ
 
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.นครราชสีมา หลังเกิดฝนตกหนักในคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำในลำน้ำตะคองไหลเข้าท่วมแหล่งปลูกผักขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ในพื้นที่บ้านหัวถนน หมู่ที่ 7  ต.หัวทะเล อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักส่งขายตลาดไท กรุงเทพฯ ตลาดสดในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีแปลงผักเสียหาย กว่า 80 ไร่ เกษตรกรต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ผักกวางตุ้ง  ผัก คะน้า ผักขึ้นฉ่าย และถั่วผักยาว ขึ้นจากแปลงผักมาขายก่อนกำหนด

นายสวัสดิ์ ศิริทรัพย์ อายุ 51 ปี เกษตรกรผู้ปลูกผัก หมู่ที่ 7 บ้านหัวถนน ต.หัวทะเล กล่าวว่า น้ำไหลเข้าท่วมแปลงผักที่ตนกว่า 10 ไร่ จึงต้องเร่งเก็บเกี่ยวผักที่ปลูกมาขายก่อนกำหนด  ส่วนแปลงผักอื่นๆที่น้ำท่วมสูงผลผลิตก็เสียหายไปกว่าครึ่งไม่สามารถเก็บได้ โดยเฉพาะผักขึ้นฉ่ายและผักชีซึ่งในช่วงนี้ราคาดี ขายที่ราคากิโลกรัมละ 50- 70บาท คราดว่าจะขาดทุนกว่า  3 หมื่นบาท จึงอยากให้ทางจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ โดยสร้างคันกันน้ำริมลำน้ำลำตะคองแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
 
ต.หนองบัวศาลาอ่วม ทางสัญจรขาด
 
ส่วนพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยมาก้อนหน้านี้ โดยเฉพาะตำบลหนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงซ้ำอีกครั้งในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ 5 หมู่บ้านของตำบลหนองบัวศาลา คือ บ้านหนองตะลุมปุ๊กเก่า หมู่ที่ 2, บ้านหนองปลิง หมู่ที่ 3, บ้านหนองตาคง หมู่ที่ 8, บ้านหนองปลิงใหม่ หมู่ที่ 9 และบ้านหนองตะลุมปุ๊กใหม่ หมู่ที่ 10 ทุกหมู่บ้าน มีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50 ซม.– 1 เมตร บ้านเรือนราษฎรกว่า 300 หลังจมน้ำ รวมทั้งบ้านเรือนกว่า 100 หลังคาเรือนภายในหมู่บ้านจามจุรี หมู่ที่ 10 ซึ่งถือเป็นบ้านจัดสรรราคาแพง ราคาบ้านตั้งแต่หลังละ 1.5 – 4 ล้านบาท ถูกน้ำท่วมขัง ทั้งหมู่บ้าน มีระดับน้ำสูงประมาณ 50 ซม. รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรได้ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยต้องใช้เรือยนต์ท้องแบนในการบริการรับส่งประชาชนเข้าออกหมู่บ้าน ล่าสุด มีเจ้าของบ้านภายในหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 6 หลัง ติดประกาศขายบ้านด่วนในราคาถูกเนื่องจากทนกับปัญหาน้ำท่วมไม่ไหว

ประกาศขายบ้านหนีน้ำแล้วนับ 10 ราย

นายวีระพงษ์ ปรีดีวงษ์ อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 192/73 หมู่บ้านจามจุรี กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่าน มาได้ประสบปัญหาน้ำท่าวม 2 ครั้ง ทำให้บุตรหลานไม่สามารถออกไปทำงานและเรียนหนังสือตามปกติได้  จึงติดประกาศขายบ้านหลังในราคาถูกเนื่องจากเบื่อหน่ายปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เดิมตนซื้อบ้านมาในราคาเกือบ 2 ล้านบาท แต่จะขายในราคาเพียง 1.7 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้มีเพื่อนบ้านนับสิบรายติดประกาศขายบ้านเนื่องจากทนสภาพน้ำท่วมไม่ไหว

สนามกีฬา "ซีเกมส์" พังระนาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนสถานการณ์ในเมืองนครราชสีมา พบว่า เกิดน้ำท่วมสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ80พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ต.หนองจะบก อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นสนามที่ใช้จัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2550 โดย 8 สนามจาก 9 สนาม ไม่สามารถใช้งานได้ รวมทั้งน้ำไหลเข้าท่วมสนามฟุตบอลและลู่วิ่งที่ใช้ในการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน มีระดับน้ำสูงประมาณ 20 เซนติเมตร นายบัญชา พิมพ์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการการกีฬาแห่งประเทศไทยจ.นครราชสีมาจึงสั่งการให้ เจ้าหน้าที่ของสนามกีฬาฯเร่งนำกระสอบทรายมากั้นน้ำพร้อมทั้งนำรถแทคเตอร์มาไถดินสร้างเป็นคันดินกันน้ำไม่ให้ไหลทะลักเข้าท่วมสนามฟุตบอลทั้งสนาม  
 
นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด คือ นครราชสีมา  , บุรีรัมย์ ,สุรินทร์ ,ชัยภูมิ ,ศรีสะเกษ และสระบุรี มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 40 อำเภอ 202 ตำบล 1,278 หมู่บ้าน ราษฏรได้รับความเดือดร้อน 41,207 ครอบครัว  มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 920 คน สถานที่ราชการ/โรงเรียนเสียหาย 21 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 38,154 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 43,529,012 บาท 
 
หน่วยงานรัฐความช่วยเหลือเข้าถึง
 
วันเดียวกัน นายพงศ์โพยม วาศภูติ   ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมนายสุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่จ.นครราชสีมา เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่โรงเรียนบ้านหนองตาคง หมู่ที่ 8 ต.หนองบัวศาลา อ.เมืองนครราชสีมา พร้อมมอบถุงยังชีพ 200 ชุด ให้ประชาชน 15 หมู่บ้าน ในตำบลหนองบัวศาลาที่ได้รับความเดือดร้อน

วันเดียวกัน พลโท(หญิง)พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน พร้อมนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปมอบถุงยังชีพช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่วัดบ้านหมื่นไวย ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา และ ที่วัดหนองตะลุมปุ๊ก ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง

อุตุฯ ออกประกาศฉบับที่ 20 เตือนภัย

เมื่อวันที่ 19 กันยายน น.ส.เรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า กรณีศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา มีประกาศฉบับที่ 20 แจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงจังหวัดพะเยาด้วย จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในที่ราบลุ่มและที่ราบเชิงเขาระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1 -2 วันนี้ แม้นระดับน้ำในกว๊านพะเยา โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งอื่นๆอยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่ระดับน้ำในลำน้ำอิง อ.ภูกามยาว และ ลำน้ำห้วยร่องช้าง อ.ดอกคำใต้ ใกล้ล้นตลิ่ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมความพร้อมป้องกันความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพื้นที่ทำกินด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)จังหวัดพะเยา ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยภัยพิบัติ เพื่อให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)และ อำเภอ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 9 อำเภอ 53 ตำบล 472 หมู่บ้าน 30,867 ครัวเรือน    
    
พ่อเมืองโคราชยัน "เขื่อนลำตะคอง" ไม่ได้ปล่อยน้ำ
 
นายสุธี  มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งหมด 13 อำเภอ 64 ตำบล 685 หมู่บ้าน 6,942 ครัวเรือน ทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ มูลนิธิเอกชน และองค์ปกครองท้องอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สถานการณ์ขณะถือว่าสามารถควบคุมได้ ปริมาณน้ำที่ท่วมบ้านเรือนประชาชนลดระดับลงแล้ว เขื่อนลำตะคองไม่มีการปล่อยน้ำลงพื้นที่ อ.เมืองตามที่เป็นข่าวลือ สาเหตุน้ำท่วมเกิดจากนั้น ฝนตกลงในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง คือ อ.สีคิ้ว แต่เจ้าหน้าที่บริหารอย่างเป็นระบบ โดยให้น้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ อ.สีคิ้ว 60 % ไหลลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ โดยเตรียมเครื่องสูบน้ำได้อย่างพอเพียง เขตเทศบาลนครฯถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

พระวรชายาฯ พระราชทานถุงยังชีพช่วยลพบุรี

ที่วัดราชวันทนาราม ต.ถลุงเหล็ก อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี พล อ.อ.จักรพงศ์ หอมไกรลาศ กรมวังผู้ใหญ่วังสุโขทัย เป็นผู้แทนพระองค์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์  พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นำสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยประกอบด้วยข้าวสาร 20 ถุง นมอัดเม็ด 10 ลัง นมกล่อง 10 ลัง และบะหมี่สำเร็จรูป 10 หีบ พร้อมจัดอาหารประกอบแก่ผู้ประสบภัย ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี เปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารให้การรักษาพยาบาลและแจกเวชภัณฑ์แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

วันเดียวกัน ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะมอบถุงยังชีพ 659 ถุงแก่ราษฎรผู้ประสบภัย

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากระดมช่วย
 
ขณะที่น.พ.พิชิต  สุวรรณประกร เป็นผู้แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุนำถุงยังชีพพระราชทานจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย 700 ถุง พร้อมจัดรถประกอบอาหารเคลื่อนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่หมู่บ้านสระตาแวว ต.พุคา อ.บ้านหมี่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมจ.ลพบุรี พบว่าระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขัง โดยที่อ.เมือง ระดับน้ำโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจังหวัดลพบุรีได้ระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกและให้การช่วยเหลือด้านอาหารและเวชภัณฑ์แก่ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

จันทบุรีน้ำท่วม น.ร.เตลิดหนี
 
ที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสพภัยน้ำท่วมพร้อมเรียกประชุมด่วนมีหัวหน้าป้องกันภัยจังหวัด หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยา นายอำเภอทุกอำเภอ พร้อมส่วนราชการเกี่ยวข้อง หลังเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายอำเภอ และเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ จากนั้นออกประกาศเตือนภัยฉบับแรก ให้ประชาชนเขตพื้นที่อำเภอเมืองที่อาศัยริมแม่น้ำจันทบุรี ลำคลอง เขตเทศบาลเมือง เขตเทศบาลตำบลจันทนิมิต และเทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ เตรียมขนย้ายสิ่งของเร่งด่วน นอกจากนี้พบว่า โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ และ โรงเรียนวัดจันทนาราม อ.เมือง ซึ่งเป็นเขตน้ำท่วม ได้แจ้งให้ผู้ปกครองไ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์