วิกฤตน้ำปริ่มเขื่อน 9 แห่งสูงถึง 80-90% กระทรวงทรัพยากรฯ เฝ้าระวังเต็มที่

นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รักษาการรมต.กระทรวงทรัพยากรฯ แจ้งตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งอยู่ในขั้นต้อง"เฝ้าระวัง" ชี้ไม่ได้ออกมาสร้างความตื่นตระหนก เพียงแต่ให้ข้อมูลไว้รับมือน้ำหลาก น้ำทะลักจากเหนือเวลานี้

วันที่ 17 กันยายน นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะผู้บริหารทส.ว่า หลังจากถูกทักท้วงจากหลายหน่วยงานที่ก่อนหน้านี้ตนออกมาให้ข่าวว่า มี 3 เขื่อนใหญ่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมากจำเป็นต้องเฝ้าระวังเร่งด่วน คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 85% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี มีปริมาณน้ำ 80% และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 83%นั้น ในที่ประชุมทส.วันเดียวกันนี้ ได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่องปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆกับอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าระวังติดตามเรื่องปริมาณน้ำ ได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อมูลที่ได้รายงานให้ทราบนั้นเป็นความจริงทุกประการ
 
“ความจริงแล้ว เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในขั้นที่ต้องเฝ้าระวัง มีถึง 9 แห่งด้วยกัน ไม่ใช่ 3 แห่ง ที่เพิ่มขึ้นมาคือ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และนครพนม 85% เขื่อนลำพระเพลิง 86% เขื่อนดอกกราย จ.ชลบุรี 92% เขื่อนคลองใหญ่ จ.ระยอง 88% เขื่อนประแสร์ 90% และเขื่อนขุนด่านปราการชล 89% ตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ ศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทานทำงานร่วมกัน และรับรู้ปรากฏการณ์นี้ด้วยกันมาตลอด”นางอนงค์วรรณ กล่าว
 

นางอนงค์วรรณ กล่าวว่า ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลนั้น ตนไม่ได้บอกว่า เป็นความวิกฤต หรือเขื่อนกำลังจะแตกอย่างที่หลายคนเข้าใจ

แต่เป็นการบอกเพื่อให้มีการเฝ้าระวังร่วมกัน ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาเองได้ประกาศว่า ช่วงนี้ยังไม่มีมรสุมเข้า แต่เร็วๆนี้ไม่แน่ การเปิดเผยถึงปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจะทำให้แต่ละพื้นที่หาทางหรือวางแผนจัดการในพื้นที่ตัวเองได้เร็วยิ่งขึ้น

 
“เราไม่มีเจตนาที่จะกล่าวร้ายใคร หรือสร้างความตื่นตระหนก เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม แต่เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการจัดการ วางแผนแก้ปัญหาก็เป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน และส่วนหนึ่งทส.ก็ต้องเข้าไปทำงานด้วย ปกติหากอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำมากขนาดนี้ จะต้องมีการพร่องน้ำ หรือระบายน้ำออก แต่จะระบายออกอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนก็ต้องวางแผนกันอีกที”นางอนงค์วรรณ กล่าว
 
เมื่อถามว่า ขนาดไม่มีมรสุมน้ำยังมากขนาดนี้ หากมีมรสุม แต่ละเขื่อนจะรับน้ำได้หรือไม่ นางอนงค์วรรณกล่าวว่า ทุกเขื่อน และอ่างเก็บน้ำต่างรู้ตัวเองกันดีว่าสามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากแค่ไหน

เมื่อถึงระยะที่จจะพร่องน้ำ หรือระบายน้ำออกก็ต้องทำ ตามข้อมูลที่มีอยู่เวลานี้ ไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่ไหน ที่น่าเป็นห่วง และโอกาสที่จะเกิดเขื่อนแตกนั้นมีน้อยมาก นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในขณะนี้ว่า ต้องดูหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำฝน ในปีนี้ภาคตะวันออกฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าทุกภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่นิคมอุตสาหกรรมชอบ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมมาก แต่ต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ดี ไม่ให้ขาดเหมือนที่ผ่านมา และไม่ให้ล้นจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญๆ เช่นแม่น้ำโขง และแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ยังต่ำกว่าระดับวิกฤตมาก สำหรับเรื่องน้ำทะเลหนุน ก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในภาคกลางแต่อย่างใด ซึ่งจากการประเมินแล้วการดูแลระดับน้ำท่วมปีนี้ ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้โดยเฉพาะในเดือนกันยายนนี้คงไม่มีปัญหาใด

 
นายศิริพงศ์ กล่าวว่า เรื่องน้ำท่วมที่ จ.ลพบุรี  เกิดขึ้นจากลักษณะน้ำท่วมขังระบายน้ำไม่ทัน

เพราะดูจากน้ำในเขื่อนน้ำป่าสักฯเองแล้วยังสามารถรองรับน้ำได้อีกไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามยังห่วงพื้นที่จ.น่าน เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนสิริกิตติ์ ค่อนข้างมากและบริเวณดังกล่าวมักจะเกิดน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดแล้ว



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์