ท่วมกรุงเก่า-เรือสินค้าป่วน100ล. ธ.ก.ส.เล็งพักชำระหนี้-เพิ่มเงินกู้

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ผู้สื่อข่าว จ.พระนครศรีอยุธยา รายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำลพบุรีที่ไหลมาจาก จ.ลพบุรี เข้าสู่ อ.บ้านแพรก และ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา

เริ่มมีระดับน้ำสูงขึ้นและล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำในเขต ต.สำพะเนียง อ.บ้านแพรก ทำให้ธุรกิจชุมชนทำปลาเค็มของชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไม่มีสถานที่ตากปลาเค็ม ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาพบว่าระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางเขื่อนชัยนาทต้องเร่งระบายน้ำ 1,450 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นจุดวิกฤตแล้ว และเชื่อว่ามวลน้ำดังกล่าวจะไหลมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ในระยะ 1-2 วันนี้แน่นอน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เร่งจัดเตรียมกระสอบทรายจำนวนมาก วางเสริมแนวเขื่อนหน้าวัดไชยวัฒนาราม ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเขื่อนถาวรป้องกันน้ำท่วมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2552

นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา เผยว่า สองฝั่งแม่น้ำป่าสักในเขต อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่

ประเภทเรือลำเลียงเส้นทางเดินเรือไปเกาะสีชัง ได้รับผลกระทบจากการเร่งปล่อยน้ำของเขื่อนพระราม 6 เพราะกระแสน้ำไหลแรงมาก ประกอบกับบางช่วงแม่น้ำแคบ เรือลำเลียงสินค้าต้องหลบกระแสน้ำที่เชี่ยว ไม่สามารถเดินเรือได้สะดวกเหมือนปกติ

"ในวันนี้จะเข้าหารือกับกรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการเดินเรือขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ เพราะมีสินค้าหลายชนิด เช่น ปูนซีเมนต์ ข้าว และถ่านหิน ต้องใช้ท่าเรือในแม่น้ำป่าสัก โดยเฉพาะในเขต อ.นครหลวง เป็นที่ขนถ่ายสินค้า ซึ่งประเมินสถานการณ์แล้วเกิดความเสียหายแล้วนับร้อยล้านบาท" นายทศพลกล่าว

ด้านนายอาณัฐพงษ์ ศักดิ์เจริญ ผอ.ธ.ก.ส.พระนครศรีอยุธยา เผยว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบลูกค้าที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ อ.นครหลวง และ อ.ท่าเรือ ได้รับความเดือดร้อนจากพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้ว 70 ราย (2,000 ไร่)


ซึ่ง ธ.ก.ส.เตรียมนำข้อมูลมาพิจารณาเพื่อพักชำระหนี้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเพิ่มวงเงินกู้ให้อีก 80% เพื่อไปทำทุนหลังน้ำลด ส่วนที่ จ.ปราจีนบุรี น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ไหลหลากลงมาท่วมพื้นที่ ต.บุพราหมณ์ ต.นาดี อ.นาดี และ อ.กบินทร์บุรี ได้ระบายลงแม่น้ำปราจีนบุรี จนระดับน้ำท่วมเริ่มลดลงและใกล้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

นายณรงค์ มหรรณพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก กล่าวถึงปัญหาน้ำป่าว่า นอกจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่บนที่สูง มีพื้นที่กว่า 2,168 ตารางกิโลเมตรแล้ว อีกสาเหตุน่าจะมาจากรีสอร์ทรอบเขาใหญ่ ทางฝั่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมเกือบ 200 แห่งจนน้ำระบายไม่ทัน การสร้างถนนไม่คำนวณทางน้ำจนน้ำทะลักล้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์