เดินหน้าตั้งร้านค้าใต้ทางด่วน

นายสุระชัย เอี่ยมวชิระกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ธพส. จะเปิดพื้นที่ร้านค้าใต้ทางด่วนตามนโยบายรัฐบาล

แต่เบื้องต้นนี้จะเป็นแบบชั่วคราว เพื่อทดลองตลาดก่อน 2-3 สัปดาห์ โดยจะเปิดร้านค้า ในรูปแบบเปิดท้ายขายของ และมีบูธตั้งเป็นร้าน ๆ ไปจำนวน 2,000 ร้านค้า ในพื้นที่ใต้ทางด่วน 4 แห่ง โดยจะเปิดรับทั้งผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างละครึ่งหนึ่ง โดยคิดค่าเช่าขั้นต่ำตั้งแต่วันละ 100 บาท และสูงสุดไม่เกิน 600 บาท สำหรับค่าน้ำค่าไฟฟ้าเท่านั้น รวมทั้งธพส.จะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบริเวณด้วย

สำหรับพื้นที่ใต้ทางด่วนทั้ง 4 แห่งคือ ทางด่วนสุขุมวิท บริเวณใกล้ซอยนานา ทางด่วนสีลมบริเวณโรงพยาบาลเลิดสินไปจนถึงสุรวงศ์ ซึ่งจะจัดในลักษณะชอปปิงสตรีท ส่วนทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา 2 ช่วงคือ บริเวณทาวน์อิน ทาวน์ถึงโรงแรมเอสซีปาร์ค บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัสถึงคริสตัลพาร์ค และทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเป็นลักษณะสินค้าชุมชน

ตามนโยบายรัฐบาลนั้นจะเปิดร้านค้าแบบถาวรใต้ทางด่วน ซึ่ง ธพส.จะต้องใช้เวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง และก่อสร้างบูธขายของที่ถาวรในพื้นที่ 3x3 ตารางเมตร

ทำให้คาดว่าจะเริ่มโครงการแบบถาวรได้ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท คาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปี เนื่องจากธพส.ไม่ได้ลงทุนมากนัก และเช่าที่จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) ในราคาไม่แพง เพราะถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ทั้งกระทรวงการคลังและคมนาคมได้หารือร่วมกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะเดียวกัน ธพส. เน้นการลงทุนในเชิงมวลชน (แมสโปรดักส์) โดยเฉพาะการจัดทำบูธ อาจจะทำเหมือนกันหมดแล้วนำมาวางถาวรได้ทันที รวมทั้งระมัดระวังการลงทุน อยู่แล้ว และอนาคตจะให้เอกชนเข้ามาเช่าช่วงบริหารงานแทน ธพส.แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่ให้มีเอกชนมาบริหารงานในลักษณะการกินหัวคิวแน่นอน

“การจัดพื้นที่ขายของดังกล่าวนี้ ธพส. เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจติดต่อกับ ธพส.ได้โดยตรง ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับอบายมุขทั้งหลาย และให้สิทธิแบบใครมาก่อนได้ก่อน ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ แต่เบื้องต้นจะเป็นลักษณะทดลองตลาดชั่วคราวเท่านั้น เมื่อครบ 3 สัปดาห์แล้วต้องออกไป เพื่อให้ ธพส.จัดทำโครงการลักษณะแบบถาวรต่อไป ซึ่งเบื้องต้นได้รับนโยบายว่าต้องการให้มีร้านค้า 10,000 บูธ โดยปัจจุบัน กทพ.ได้เสนอพื้นที่มาให้พิจารณาแล้ว 14 จุด แต่เราจะเลือกพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ก่อนโดยไม่มีปัญหาใด ๆ และอยู่ในย่านชุมชนมาดำเนินการก่อน ส่วนพื้นที่อื่นจะพิจารณาหลังจากนั้น เพราะบางแห่งอยู่ไกล และจะครบ 10,000 แห่ง ตามนโยบายหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ที่จะไปทำด้วย”

เมื่อสร้างเป็นพื้นที่ขายของถาวรแล้ว จะกำหนดราคาค่าเช่าอีกครั้งหนึ่ง โดยต้องดูราคาค่าเช่าพื้นที่ทั่วไปในตลาดประกอบด้วย.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์