เอแบคโพลล์ชี้พลัง´เรารักในหลวง´ ความสุขคนไทยพุ่ง

กรุงเทพธุรกิจ

11 มิถุนายน 2549 11:51 น.
เอแบคโพลล์สำรวจดัชนีความสุขมวลรวมคนไทยประจำเดือนพฤษภาคม มีปัจจัยบวกด้านวัฒนธรรมประเพณีไทย พลังความจงรักภักดีเรารักในหลวง ช่วยเหลือแบ่งปันเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความรักสามัคคีของคนในชาติ แต่ความทุกข์ยังเป็นปัญหาการเมือง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่องรายงานดัชนีความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness Index) ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือนพฤษภาคม : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดคือ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ แพร่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หนองคาย ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 4,336 คน ระหว่างวันที่ 1 - 10 มิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อสำรวจภาวะความสุขของคนไทย อันมีปัจจัยประกอบด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และบริบทอื่นๆ ที่คนแต่ละคนดำเนินชีวิตประจำวันเกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยเดือนพฤษภาคม 10 ด้านคือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสภาพชุมชนที่พักอาศัย ด้านสภาวะเศรษฐกิจของตนเอง ด้านการศึกษา ด้านธรรมชาติ ด้านการเมือง รัฐบาล องค์กรอิสระ ด้านสุขภาพกาย ด้านสุขภาพใจ ด้านวัฒนธรรม ด้านกระบวนการจุติธรรม พบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีโดยได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.59 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยด้านวัฒนธรรมประเพณีของไทย พลังความจงรักภักดี เรารักในหลวง การช่วยเหลือแบ่งบันกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ และความรักความสามัคคีของคนในชาติ

ปัจจัยลบกระทบความสุขคนไทยคือ ปัจจัยด้านการเมือง ได้แก่ ปัญหาด้านจริยธรรมของนักการเมือง รัฐบาล และองค์กรอิสระ ปัญหาความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อนักการเมือง รัฐบาลและองค์กรอิสระ ความไม่โปร่งใสและความเคลือบแคลงสงสัยต่อนักการเมือง รัฐบาลและองค์กรอิสระ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ความพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระและความไม่เป็นอิสระของสื่อมวลชน และการเลือกปฏิบัติของนักการเมือง รัฐบาล และองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยด้านการเมืองเพียงสองปัจจัยเท่านั้นที่ประชาชนรู้สึกมีความสุขนั่นคือความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบอีกสองประการ คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้แก่ ภาระหนี้สิน ภาระการจับจ่ายใช้สอย ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิมและความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นายนพดล กล่าวว่า ผลการสำรวจตัวชี้วัดความสุขมวลรวมแสดงค่าทางสถิติชัดเจนว่า ถ้าสังคมไทยไม่มีปัจจัยบวกด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความจงรักภักดี และความรักความสามัคคีของคนในชาติแล้ว ความสุขมวลรวมของคนไทยจะตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอย่างแน่นอน ดังนั้น ฝ่ายการเมือง-รัฐบาล-องค์กรอิสระ ควรจะใคร่ครวญถึงดัชนีชี้วัดความสุขและประโยชน์สุขของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เมื่อฝ่ายการเมือง-รัฐบาล-องค์กรอิสระทราบและตระหนักถึงพลังแห่งความจงรักภักดีของประชาชนขณะนี้แล้ว ควรทราบถึงปัจจัยสำคัญ ๆ เช่นกัน นั่นคือปรัชญาแนวคิดการปกครองตามหลักทศพิศราชธรรม และโครงการต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริทุกโครงการที่ฝ่ายการเมือง-รัฐบาล ควรนำมาบูรณาการไว้ในนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์