กทม.ไม่สน อุตุฯทักโอกาสเกิดคลื่นพายุใหญ่แค่10% สั่งเตรียมรับมือน้ำท่วมพื้นที่สีแดง

กรมอุตุฯยัน กทม.มีโอกาสแค่ 10% เจอ "คลื่นพายุใหญ่" เหตุพื้นที่ไม่เอื้อ "อภิรักษ์" สั่งเตรียมพร้อมรับน้ำท่วมพื้นที่สีแดง คาดจมน้ำไม่ต่ำกว่า 50 ซม.-1 ม. ย่านบางนา แถบไบเทค-เซ็นทรัล-บิ๊กซีเสี่ยงสุด

ที่ห้องประชุมกองบัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบก บางนา นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เพื่อซักซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ในระดับวิกฤต และกรณีเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge)

นายวัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทางทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา ได้บรรยายเรื่องพายุโซนร้อนและคลื่นพายุซัดฝั่ง ว่า ยืนยันว่าเป็นไปได้ยากที่จะเกิดปรากฏการณ์สตอร์มเซิร์จในพื้นที่ กทม. ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้

โดยมีโอกาสไม่ถึง 10% เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา ในประเทศไทยจะเกิดสตอร์ม เซิร์จเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก เช่น ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่พื้นที่ กทม. อยู่ในทำเลที่ดี แม้จะติดอ่าวไทย แต่ก็เป็นปากอ่าวทะเลแคบๆ แค่ประมาณ 100 กิโลเมตร ไม่เปิดกว้าง จึงไม่เอื้อต่อการเกิดสตอร์ม เซิร์จ จนเกิดพายุได้ โดยพายุโซนร้อนและมีคลื่นซัดฝั่งได้จะต้องใช้พื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 300-1,500 กิโลเมตร

นายวัฒนากล่าวต่อว่า ลักษณะของสตอร์ม เซิร์จจะเป็นพายุซัดเข้าฝั่งทำให้เกิดฝนตกหนัก เพราะเป็นพายุที่ก่อตัวจากใต้ฝุ่น

บวกกับลักษณะอากาศที่มีความกดต่ำมาก จนทำให้คลื่นเกิดการยกตัวสูง แตกต่างจากการเกิดสึนามิ ที่ไม่มีพายุฝน อย่างไรก็ตาม หากเกิดสตอร์ม เซิร์จใน กทม.จริง ก็จะไม่รุนแรงเพราะพื้นที่ กทม.ไม่เอื้ออำนวยให้เกิด แต่จะมีผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ กรมอุตุฯ ยังสามารถแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดเหตุ 7 วัน


"การออกมายืนยันไม่ได้ต้องการจะขัดแย้งกับนายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุฯ เพราะเรื่องนี้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล สิ่งที่นายสมิทธ ออกมาเตือนเป็นการดูจากสถิติการเกิดพายุในรอบ 10 ปี ซึ่งปีนี้เป็นช่วงที่ครบรอบพอดี ถือว่าเป็นเจตนารมณ์ดีที่ต้องการให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวรับมือ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม" นายวัฒนากล่าว

ด้านนายอภิรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้สั่งการให้ทั้ง 50 สำนักงานเขต ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที

โดยกำหนดให้ประเมินให้แล้วเสร็จในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย (สีแดง) ได้แก่ บางนา บางขุนเทียน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ และจอมทอง ซึ่งจะเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่า พื้นที่จะจมอยู่ใต้น้ำ 50 ซม. ถึง 1 เมตร โดยเบื้องต้นในเขต บางนา มีพื้นที่เสี่ยงภัยคือ ศูนย์นิทรรศการนานาชาติ ไบเทคบางนา เซ็นทรัล บางนา บิ๊กซี บางนา และอาคารเดอะเนชั่น นอกจากนี้ จะมีการจัดทำคู่มือรับมือคลื่นพายุซัดฝั่งจำนวน 2 แสนชุด เพื่อแจกให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้รับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์