2549 การศึกษาไทยไร้อนาคต

2549 การศึกษาไทยไร้อนาคต โอเน็ตเอเน็ต-ฆ่าครูใต้แรงสุด


หากนับถอยหลังตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2549 ไล่เรื่อยขึ้นไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค.2549 แล้ว ก็จะพบว่า 365 วันที่ผ่านไปแวดวงการศึกษาและวัฒนธรรมมีเรื่องใหญ่เรื่องโตที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทยโดยรวมมากมาย ทั้งเรื่องที่เต็มไปด้วยความเศร้าสลดกรณีครูจูหลิง-ครูชุติมา และครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้หลายต่อหลายคนถูกทำร้ายบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัญหาโอเน็ต-เอเน็ตที่ทำให้เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ต่อการศึกษาไทย การล้มโครงการประชานิยมในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การควบคุมไคโยตี้ และล่าสุดกับเหตุการณ์ร้อนๆ ส่งท้ายปีกับปัญหาการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

แต่ละเรื่องที่เส้นทางความเป็นมาอย่างไร น่าสนใจยิ่ง....

1.โอเน็ต-เอเน็ต ติด F ตั้งแต่เริ่ม


ปี 2549 เป็นปีแรกที่กระทรวงศึกษาธิการยุค จาตุรนต์ ฉายแสง ลั่นฆ้องว่า จะเริ่มนำระบบแอดมิสชั่น หรือระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา มาใช้แทนระบบเอนทรานซ์ที่ใช้มาเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปี ทว่า ปฐมบทของ แอดมิสชั่น กลับกลายเป็นปัญหาวุ่นวาย และลบความน่าเชื่อถือของระบบดังกล่าวลงอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากการจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ซึ่งเป็นผลคะแนน 2 ส่วนที่จะถูกนำมาใช้พิจารณาเพื่อการันตีที่นั่งในมหาวิทยาลัยให้กับนักเรียน เกิดปัญหาซ้ำซ้อนหลายตลบ

นับจากวันแรกที่

สำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)กำหนดว่าจะประกาศผลคะแนนผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อถึงเวลาประกาศ กลับพบปัญหาเด็กมีคะแนนเป็นศูนย์จำนวนมาก หรือบางคนไม่ได้เข้าสอบในบางวิชากลับมีคะแนนในรายวิชานั้น ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองตบเท้าเข้าพบ นายประทีป จันทร์คง ผอ.สทศ.ในขณะนั้น

จนต้องประกาศยกเลิกผลคะแนนที่ประกาศออกไปในครั้งแรก และจะตรวจข้อสอบใหม่ทั้งหมด โดยระบุสาเหตุของความผิดพลาดว่าเกิดจากการประมวลผลของระบบคอมพิวเตอร์ แต่การประกาศครั้งที่ 2 ของ สทศ.ปัญหาเรื่องเดิมๆ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ รวมทั้งเด็กบางคนกลับมีปัญหาไม่พบคะแนนอีกด้วย

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยตรวจข้อสอบอีกครั้ง โดยการตรวจครั้งนี้เป็นการตรวจผลคะแนนจาก 2 หน่วยงาน ทั้ง สทศ. และ สกอ.เพื่อให้ได้ผลคะแนนที่ถูกต้องตรงกันที่สุด และกำหนดวันประกาศผลใหม่อีกรอบ

แต่แล้วก็เจอโรคเลื่อนอีกนับครั้งไม่ถ้วน

ที่หนักสุดคือเลื่อนการประกาศผลภายในวันเดียวถึง 3 รอบ ซึ่งคราวนี้ปัญหาใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เช่น กระดาษคำตอบของเด็กที่เข้าสอบหายยกห้อง หรือการพบกระดาษคำตอบใหม่ซึ่งยังไม่เคยผ่านการตรวจเลยสักครั้งเดียวหลายพันใบ


ทำให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้มากที่สุดก่อนการประกาศผล และเปิดรับข้อร้องเรียนเพื่อตรวจสอบข้อมูลกระดาษคำตอบให้เป็นรายบุคคล โดยเปิดศูนย์ตรวจสอบกระดาษคำตอบทั่วประเทศ

ผลพวงจากปัญหาในครั้งนั้น

นายประทีป ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผอ.สทศ. ตามด้วยการประกาศลาออกของนางสุมณฑา พรหมบุญ ประธานบอร์ด สทศ. แต่สิ่งที่สูญเสียไปและยากที่จะเรียกกลับคืนมาคือ ความเชื่อมั่นต่อระบบแอดมิสชั่นที่จะนำมาใช้คัดเลือกนักศึกษา

2.ฆ่าครูใต้-เผาโรงเรียน : ภัยเงียบของวงการศึกษา


เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของวงการศึกษาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลทักษิณจนถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ คงหนีไม่พ้นกรณีความรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้น ครู ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และนับวันก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

กรณีที่สร้างความสลดใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมากคือ การทำร้ายครูจูหลิง ปงกัมมูลที่ทำให้วันนี้เธอกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา รวมถึงกรณีของ ครูชุติมา รัตนสำเนียง ครูโรงเรียนชุมชนบ้านตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ถูกลอบยิงบริเวณศีรษะจนเสียชีวิต โดยก่อนหน้านั้นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติหลายคนต้องจบชีวิตลงจากการลอบทำร้ายของผู้ก่อความไม่สงบ รวมถึงการลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลพวงจากความสงบที่เกิดขึ้น

ทำให้ครูในพื้นที่ดังกล่าวขอย้ายออกนอกพื้นที่จำนวนมาก ที่สำคัญขวัญและกำลังใจทุกคนต่างถดถอยลง ทำให้นักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องประสบกับการปิดการเรียนการสอนชั่วคราวอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศใช้นโยบายรับครูอัตราจ้างมาสอนแทนโดยมีสัญญาจ้างปีต่อปี

และที่ร้อนแรงส่งท้ายปีอย่างแทบไม่มีใครเชื่อก็คือ กรณีการลอบเผาโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางหลายต่อหลายแห่ง ซึ่งมีบทสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เป็นการวางเพลิงของผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติ

3.ห้ามส่ง sms คุมเข้มไคโยตี้

ธุรกิจ sms เฟื่องฟูอยู่หน้าจอโทรทัศน์มาระยะหนึ่ง แต่ในปี 2549 รุนแรงมาก มีตั้งแต่ส่งข้อความสื่อสารธรรมดา บอกรัก บอกลาหน้าจอทีวี ไปจนถึงส่งข้อความเรียกเรตติ้งสร้างแฟนคลับในรายการเรียลลิตี้โชว์ และส่งข้อความเพื่อชิงรางวัล

อย่างไรก็ดี กระแสร้อนแรงก็มาหยุดชะงักลงเมื่อ

การส่ง sms เพื่อชิงรางวัลถูกฟันธงชัดเจนว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย และกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า ให้ยุติการดำเนินรายการที่ให้ผู้ชมส่ง SMS มาร่วมรายการโดยมีของรางวัลแลกเปลี่ยน เนื่องจากรูปแบบรายการดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478

ส่วนการส่ง SMS เพื่อแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจผ่านรายการต่างๆ นั้น ยังคงให้ดำเนินการได้ตามปกติ ...เป็นอันว่าการส่ง sms ชิงรางวัลหรือทายผลผ่านหน้าจอเป็นอันยุติไป


ขณะที่ในช่วงท้ายปลายปี

สำนักราชเลขาธิการ ได้ส่งหนังสือถึง วธ. ระบุว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชปรารภ เกี่ยวกับการแต่งกายและการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมของไคโยตี้ในงานบุญ งานกุศลต่างๆ ทำให้ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วธ.ออกโรงเตือน ติ ติง และห้ามปรามไม่ให้มีการจัดการแสดงไคโยตี้หรือการแสดงที่ไม่เหมาะสมในงานที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา พร้อมกับกำชับไปถึงเด็กนักเรียน นักศึกษาที่อายุยังไม่แตะ 20 ปี ห้ามทำงานพิเศษเป็นไคโยตี้

แต่แนวคิดดังกล่าวถูกแย้งจาก นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ที่เห็นว่าเด็กบางส่วนมีรายได้จากการทำงานดังกล่าว เพียงแต่การแสดงควรจะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

...อย่างไรก็ตามจากพระราชกระแสของสมเด็จพระราชินีทำให้สังคมไทยได้หันกลับมาทบทวนถึงกาละและเทศะ และให้ความระมัดระวังกับเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

4.โละประชานิยมยุคทักษิณ


นับจากรัฐบาล ทักษิณ ขึ้นมาบริหารประเทศ โครงการประชานิยมต่างๆ ถูกดันออกมาเรียกคะแนนเสียงอย่างหนาแน่น กระทรวงศึกษาฯ ก็เช่นกัน ที่รัฐบาลทักษิณออกโครงการประชานิยมถี่ยิบ ตั้งแต่การนำเงินจากการจำหน่ายสลาก 2 ตัว 3 ตัว มาให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน ในรูปแบบ ทุนเรียงความ โดยให้นักเรียนเขียนเรียงความเพื่อเข้ามาขอรับทุน หรือการเฉือนรายได้จากกการขายหวย มาให้ทุนต่อเนื่องกับเด็กนักเรียนเรียนดีในแต่ละอำเภอไปเรียนต่อเมืองนอกในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

รวมถึงโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน

ที่หลายโรงเรียนประสบปัญหาฝันค้าง มีหนี้สินบานเบอะจากการกู้ยืมเพื่อนำมาพัฒนาโรงเรียนให้ผ่านการประเมินเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนในฝัน ยังไม่นับรวมโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2.5 แสนเครื่องให้กับเด็กนักเรียนทุกคนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

แต่เมื่อการเมืองเกิดการพลิกผัน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้เสมา 1 ก็ได้ประกาศออกมาชัดเจนว่า โครงการประชานิยมที่ทำเพื่อเรียกคะแนนเสียงจะไม่ถูกสานต่อ เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ส่วน 1 อำเภอ 1 ทุน จะยังให้ทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ทั้งหมด กล่าวคือจะให้เด็กทุนศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเมืองไทยเพิ่มขึ้นแล้วลดจำนวนการส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ

ดังนั้น โครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายจึงถึงบทอวสาน และหลายโครงการก็อยู่ในอาการน่าเป็นห่วงและส่อเค้าว่าจะล้มเร็วๆ นี้เช่นกัน

ภาพประกอบเนื้อหาข่าวทางอินเทอร์เน็ต



5.หยุด ม.ออกนอกระบบ


ประกอบด้วย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม.บูรพา และ

สถาบันเทคโนโลยีสถาบันพระจอมเกล้าพระนคร

ส่วนชุดที่ 2 ประกอบด้วย

ม.มหิดล

ม.ศิลปากร และ

ม.อุบลราชธานี

เข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้ออกนอกระบบ ทำให้นักศึกษา นักวิชาการ และคณาจารย์จาก 16 สถาบันลุกขึ้นมารวมตัวคัดค้าน ภายใต้ชื่อ เครือข่ายคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัย

โดยประเด็นใหญ่พุ่งเป้าไปที่ความ

1.เป็นห่วงในเรื่องของค่าเทอม ค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่จะเพิ่มมากขึ้น

2.ความกังวลในความเป็นอิสระและเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์

ที่สำคัญฝ่ายคัดค้านเห็นว่าร่าง พ.ร.บที่นำเข้า ครม.ไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์อย่างเปิดเผย และรัฐบาลเฉพาะกาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งกระทำการในเรื่องนี้แต่อย่างใด ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าจะทำให้การบริหารงานคล่องตัว และสามารถพัฒนาวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเคลื่อนไหวคัดค้าน

มีทั้งรวมตัวชุมนุมที่หน้ารัฐสภาและเคลื่อนไหวภายในสถาบันอุดมศึกษาของตนเอง เข้ายื่นหนังสือคัดค้านต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จนไปถึงการถวายฎีกา


อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา และคณาจารย์ มีผลให้ ร่างพ.ร.บ.ม.อุบลราชธานี และม.ศิลปากร ถูกดึงออกก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่อีก 4 มแห่งเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาสนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย

ขณะที่กลุ่มเครือข่ายคัดค้านฯ ก็ยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวคัดค้านกันต่อไป เพื่อขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ทุกมหาวิทยาลัยออกมาก่อนหรือชะลอไว้ เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์อีกรอบ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.


ปี 2550 เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าจับตามองต่อไปตลอดทั้งปี


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์