มลพิษมาบตาพุดทำหอยใหญ่ผิดปกติ

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่สถาบันจุฬาภรณ์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น "ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสุขภาพ จากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง"
 
ระดมความคิดเห็นต่อผลสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 13 ข้อ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงาน กล่าวสรุปผลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และข้อเสนอแนะทางนโยบายว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ระยองมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะหลังปีพ.ศ.2535 ที่มีการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาด้านสุขภาพ และมลพิษ พบว่ายังคงมีสารอันตรายหลายตัวที่ยังตรวจพบว่าเกินมาตรฐาน

รวมทั้งยังพบว่าสารพิษบางอย่างส่งผลกระทบในเชิงพันธุกรรมของสัตว์น้ำด้วย

ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ยังไม่หยุดนิ่ง และไม่ได้ส่งผลดีต่อ จ.ระยอง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ จึงไม่ได้เสียภาษีที่ระยอง ผลประโยชน์รวมไปถึงงบประมาณในการบริหารจัดการจึงไม่ได้ส่งถึง จ.ระยอง เลย

จากการรวบรวมข้อเท็จจริงพบว่า ในอนาคตมาบตาพุดมีทางเลือกอยู่ 3 แนวทางด้วยกัน

คือ 1.การขยายปิโตรเคมีเฟส 3 โดยรัฐเชื่อว่าจะทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 2.ประชาชนต้องการภาวะปลอดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาภาคเกษตรกรรมมากขึ้น รวมทั้งต้องการวิถีชีวิตเดิมๆ กลับคืนมา และการสร้างความสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมกับวิถีชีวิตเดิม

"ตลอดการระดมความคิดเห็นพบว่า ข้อสรุปที่ประชาชนเลือกคือแนวทางที่สอง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับแนวทางแรกแล้ว มีความแตกต่างในทางตรงกันข้าม เพราะหากเลือกที่จะเดินในแนวทางที่สองของประชาชน โดยการชะลอปิโตรเคมีเฟส 3 จะสามารถลดผลกระทบในระยะยาวได้ โดยเฉพาะประเด็นทางสุขภาพ ที่ชาวระยองเป็นห่วง และวิตกกังวลมาก นอกจากนี้ทรัพยากรได้รับการฟื้นฟู สังคมและเศรษฐกิจของชาวระยองก็จะดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายกลุ่ม ยังได้ข้อสรุปเชิงนโยบายเบื้องต้น 13 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ซึ่งหลังการระดมความเห็นแล้วก็อาจจะได้ข้อสรุปเชิงนโยบายอื่นเพิ่มเติมอีก ก่อนที่จะได้มีการนำเสนอต่อไป"
ดร.เดชรัตกล่าว

ด้านนางจันทร์เพ็ญ พรรณพิริยา ชาวบ้านหาดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กล่าวว่า ตนอยู่ที่หาดพลามานาน ครอบครัวประกอบอาชีพทำประมงมาตลอด

แต่เมื่อเกิดเขตอุตสาหกรรมทำให้วิถีชีวิตของครอบครัวเปลี่ยน แปลงไปมาก โดยเฉพาะมลภาวะที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้าน ด้านสุขภาพไม่ต้องพูดถึงเพราะตอนนี้เกือบทุกคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ กันไป เช่น โรคภูมิแพ้ ผื่นคัน หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง

นอกจากนี้การเปลี่ยนไปของสภาพสัตว์น้ำก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเห็นสัตว์น้ำแปลกๆ

เช่น ปูกระดองเปราะ, ปลาเก๋าพิการที่มีแค่ครึ่งตัว หรือหอยแมลงภู่ที่ตัวโตเท่าฝ่าเท้าเด็ก ทุกคนเชื่อว่าเกิดจากมลภาวะที่โรงงานปล่อยน้ำเสียลงน้ำ ทุกคนตกใจ และไม่มีใครกล้ากินสัตว์น้ำพวกนี้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะทำให้เกิดโรคอะไรขึ้นมาหรือไม่

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์