เตือนจกปลาร้าบอง-นํ้าพริก คุณภาพไม่ได้มาตรฐานระวังท้องเสีย

นายชัยยง กฤตผลชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สมอ.ได้เข้มงวดการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) แก่ผู้ผลิตสินค้าระดับชุมชนอย่างมาก

เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะสินค้าอาหารมากถึง 30% ที่ยังไม่อนุมัติ ให้มาตรฐานรับรองแก่ผู้ผลิต เพราะบางรายติดปัญหาสุขอนามัย ไม่สะอาด มีเชื้อโรคและจุลินทรีย์มาก อาจทำให้ผู้บริโภคท้องเสีย ซึ่งสินค้าที่ยังไม่ได้รับรองมากที่สุด คือ น้ำพริกและปลาร้าบอง
 
“รายที่ไม่ผ่านการพิจารณา สมอ.จะส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่ชุมชนในการผลิตสินค้าให้ถูกสุขอนามัย จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์สะอาดมากขึ้น  จากเดิมที่บางรายใช้มือเปล่าโดยไม่มีถุงมือในการขย้ำส่วนผสม หรือหยิบส่วนผสม รวมถึงมีแมลงในอาหาร เพราะไม่มีแผงในการกั้นแมลง ส่วนน้ำพริกนั้นยอมรับว่าแต่ละรายมีสูตรและขั้นตอนการผลิตให้อร่อยที่ไม่เหมือนกัน แต่การออกมาตรฐานของภาครัฐจะเน้นความสะอาดเป็นหลัก”
 
นายไพโรจน์ สัญญะเดชากุล เลขาธิการสมอ.กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าระดับชุมชน 40,000 ราย เสนอให้ สมอ. พิจารณารับรอง มผช. สินค้า

แต่สมอ.ได้ออกใบอนุญาตเพียง 29,000 ราย ซึ่งผู้ที่เสนอมารับรองทั้งหมดพบว่า สินค้าประเภทอาหารมีมากที่สุด 40% หรือประมาณ 16,000 ราย และทั้งหมด 30% หรือ 4,800 ราย ที่ยังพิจารณาหรือไม่ผ่านการพิจารณาเพราะไม่มีสุขอนามัย
 
“นโยบายการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานสินค้าให้กับ ผู้ผลิตในระดับชุมชน สมอ. มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าชุมชน และตรวจสอบมาตรฐานให้มีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ผลิตระดับชุมชนที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง มผช.แล้ว ทาง สมอ.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกครั้ง เพื่อรักษาระดับมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงให้บริการแนะนำ ปรึกษาบริหารจัดการด้านตลาด การบัญชี การเงิน รวมถึงลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
 
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ  สถาบันอาหาร กล่าวในงานสัมมนาเรื่องวิกฤติอาหารโลก...โอกาสเอสเอ็มอีไทยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประเมินว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอาหาร 854 ล้านคน

โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าถ้าไม่มีการแก้ปัญหาโลกร้อนจะทำให้ราคาอาหารในอนาคตเพิ่มขึ้น 20-50 เท่า ใน 10 ปีข้างหน้า ส่วนประเทศไทยราคาอาหารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30% ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นคนจน “หากประเมินแค่อาหารโลกปรับเพิ่มเพียง 30 เท่าจากปัญหาโลกร้อน อีก 10 ปีเนื้อหมูสูงถึง 3,000 บาทต่อ กก. ดังนั้นเอสเอ็มอีที่ผลิตอาหารต้องศึกษาแนวโน้มราคาน้ำมันใช้เป็นข้อมูลประเมินต้นทุน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคต”.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์