ปลัดต่างประเทศแจงเขาวิหาร งดวิจารณ์เรื่องละเอียดอ่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  วันนี้ (16 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จัดการสัมมนา เรื่อง "การเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ในลักษณะข้ามพรมแดน

โดยมีสมาชิกวุฒิสภา ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม ทหาร และสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ
200
คน มีนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายเรื่องการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ กรณีที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า กัมพูชาขอขึ้นเฉพาะปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไม่ใช่ทั้งเขาพระวิหาร การดำเนินงานของปลัดกระทรวงการต่างประเทศที่ผ่านมาว่า ได้พยายามเจรจาอย่างเต็มที่ ล่าสุด กัมพูชาได้ทำแผนที่ใหม่ตามที่ไทยร้องขอให้เส้นเขตแดนไทยประชิดตัวปราสาทพระวิหารตามที่แผนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2505 กำหนด แสดงชัดเจนว่ากัมพูชามีท่าทีอ่อนลง อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้มีการพูดเรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บรรยายจบ


มีนักวิชาการสอบถามประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นห่วงความรู้สึกของคนกัมพูชามากกว่าความรู้สึกของคนไทย พร้อมกับขอรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการเจรจาและแผนที่ใหม่ที่กัมพูชายื่นให้รัฐบาลไทยพิจารณาโดยเร่งด่วน นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า เกรงว่าหากมีการพูดไม่ระวังอาจจะบานปลาย จึงต้องระวังเรื่องความรู้สึกของทุกประเทศมากที่สุด ส่วนการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการเจรจาและแผนที่ใหม่นั้น เป็นเรื่องของขั้นตอนกระทรวงการต่างประเทศต้องเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ ครม.ให้ความเห็นชอบและประกาศให้ประชาชนทราบภายหลัง
 
 

นายปองพล อดิเรกสาร ผู้ผลิตรายการด้านมรดกโลก กล่าวว่า นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนก.ค.นี้


เกี่ยวกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของประเทศกัมพูชาเป็นมรดกโลก หลักเกณฑ์ในการพิจารณาของคณะกรรรมการมรดกโลกจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่จะมองหลักเกณฑ์ทางด้านวัฒนธรรมและหลักเกณฑ์ทางธรรมชาติทั้งหมด
10 ข้อ ว่าแหล่งโบราณมีคุณค่าหรือไม่  การเสนอของรัฐบาลกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาว่าปราสาทเขาพระวิหารมีคุณค่าเข้าเกณฑ์ทางวัฒนธรรม สมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันฝ่ายไทยควรเร่งรวบรวมข้อมูลเสนอพื้นที่ของไทยโดยรอบเขาพระวิหาร เช่น สระตราว สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง เป็นต้น เพื่อเสนอขอประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก  จากการที่คณะกรรมการมรดกโลกได้เข้ามาสำรวจพื้นที่โดยรอบของปราสาทเขาพระวิหารแล้ว ทางการไทยควรเสนอเงื่อนไขให้มีการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน จากนั้นค่อยมาดำเนินการตามขั้นตอนบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป
 

นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากรกำลังจัดทำข้อมูลในส่วนของสระตราว สถูปคู่ และภาพสลักน้าผามออีแดง


เพื่อเสนอคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นในรายชื่อเป็นมรดกโลกควบคู่กับปราสาทพระวิหารที่ประเทศกัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนในปี
2551 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยคาดว่าจะใช้เวลา 3-5 ปีในการดำเนินการ เพราะในส่วนของสระตราว หรือสระน้ำเทวสถาน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของปราสาทขอมที่ทุกแห่งจะต้องมีการสร้างขึ้น อย่างไรก็ดี การเสนอของกัมพูชาในครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศ ว่ามีการพิจารณาแบบ 2 มาตรฐาน หรือเป็นมาตรฐานเดียว เนื่องจากองค์ประกอบของโบราณสถานที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะต้องประกอบด้วยปราสาทซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นใน พื้นที่กันชนและพื้นที่ชั้นนอก

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์