ขู่ถอดมรดกโลก อยุธยาเร่งแก้

มท.1นำคณะบิ๊กมหาดไทยและกรมศิลปากรตรวจมรดกโลกกรุงศรีอยุธยา หลังกรมศิลป์เตือนยูเนสโกขู่ถอดสถานภาพ ในที่สุดสั่งกรรมการขึ้นมารีบแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยรื้อร้านค้าครั้งใหญ่ด้านหน้าและรอบๆพระวิหารมงคลบพิตร รวมทั้งเสาไฟฟ้าหงส์ และปางช้างที่บดบังทัศนียภาพ ปัดฝุ่นศาลากลางหลังเก่าเป็นศูนย์ขายของและรับส่งนักท่องเที่ยวแทน

กรณีกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

อาจถอดโบราณสถานกรุงศรีอยุธยาออกจากเมืองมรดกโลก เพราะมีการบุกรุกและใช้พื้นที่อย่างไม่เหมาะสมจนคุณค่าด้อยลง รวมทั้งสภาพภูมิทัศน์ขาดความสวยงาม เพราะมีร้านค้าตั้งอยู่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากร กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.พระนครศรี อยุธยา ซึ่งต่างก็มีส่วนกับการดูแลรักษาโบราณสถาน ล่าสุดความขัดแย้งเริ่มบานปลายเป็นปัญหาระดับประเทศ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศโจมตีว่าเป็นเกมซื้อเวลาไม่อยากถ่ายโอนอำนาจการดูแลรักษาโบราณสถานสู่ท้องถิ่น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 3 มิ.ย.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย

พร้อมด้วยนายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวิชัย ศรีขวัญ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมคณะ เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา เพื่อติดตามแก้ไขปัญหากรณีโบราณสถานกรุงศรีอยุธยาอาจถูกถอดจากเมืองมรดกโลก โดยนายปรีชา กมลบุตร ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา นำหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลนานกว่า 3 ช.ม. จากนั้นรมว.มหาดไทยนำคณะต่อไปยังด้านหน้าวิหารหลวงพ่อมงคลบพิตร ซึ่งมีร้านค้าจำนวนมากบุกรุกขายของรอบวิหาร

นายเมธาดล วิจักขณะ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า

การถอดถอนความเป็นมรดกโลกของยูเนสโกนั้น ตามขั้นตอนยูเนสโกจะเข้าสำรวจพื้นที่ก่อน หากพบว่าเสี่ยงจะขึ้นทะเบียนถอดถอนแล้วให้เวลาแก้ไข 3 ปี หากไม่แก้ไขจะดำเนินการถอดถอน แต่ภาวะปัจจุบันยืนยันว่าถึงวันนี้ยูเนสโกยังไม่ได้มาสำรวจหรือเสนอผลสำรวจว่าต้องขึ้นทะเบียนถอดถอนโบราณสถานกรุงศรีอยุธยา และยูเนสโกก็ยังไม่มีหนังสือเตือนแต่อย่างใด สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเพียงความห่วงใยของกรมศิลปากรเท่านั้น ที่อยากให้ทุกคนทุกฝ่ายตระหนักร่วมกันก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้


ด้านว่าที่ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า

ปัญหาบุกรุกมีมานานแล้วเมื่อเริ่มถ่ายโอนพื้นที่บางส่วนให้ท้องถิ่นก็พบว่าโอนพื้นที่มาพร้อมกันปัญหาที่หมักหมม และเป็นปัญหามวลชนเรื่องที่ทำกิน ซึ่งแก้ไขลำบาก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข
กรมศิลปากรไม่ควรทิ้งให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแบกภาระเพียงฝ่ายเดียว โดยกรมศิลปากรซึ่งมีอำนาจสูงสุดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ต้องมาช่วยกันอย่างจริงจัง

นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา กล่าวอีกว่า

อยากเสนอรัฐบาลและกระทรวงวัฒน ธรรมตรวจสอบการใช้จ่ายกองทุนพิทักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร เพราะที่ผ่านมาการบูรณะโบราณสถานรัฐบาลมีเงินงบประมาณให้อยู่แล้ว ดังนั้นรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมโบราณสถานที่พระนครศรีอยุธยาปีละ 25 ล้านบาท กรมศิลปากรเอาไปทำอะไรบ้าง และคนอยุธยาได้อะไรจากรายได้ตรงจุดนี้ ทางที่ดีควรนำเงิน 25 ล้านบาทต่อปีคืนให้แก่จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อใช้พัฒนาปรับปรุงโบราณสถาน อย่างไรก็ตามท้องถิ่นพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ส่วนนายสุรเชษฐ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรี อยุธยา พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า
 
เดิมพื้นที่โบราณสถานไม่มีชุมชนจนกระทั่งสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและทำเมืองร้างให้เป็นเมืองมีชีวิต ส่งเสริมคนเข้ามาอยู่ในเกาะเมือง และหน้าวิหารเพื่อขายของเมื่อคนมาไหว้พระ ปัญหาก็หมักหมมมาตลอด วันนี้ถึงเวลาต้องแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ และอยากให้ทุกคนเห็นว่าโบราณสถานเป็นแหล่งรายได้ถาวรของคนอยุธยา เมื่อมีโบราณสถานเป็นมรดกโลกก็มีการท่องเที่ยว หากไม่มีความสง่ามีแต่เต็นท์ขายของทุกอย่างก็จบ ต่อไปใครจะมาเที่ยว

"ผมเสนอให้ทำศูนย์รับนักท่องเที่ยวที่ศาลากลางหลังเก่า และจัดเส้นทางเดินทางของนักท่องเที่ยวให้ผ่านจุดขายของที่จัดไว้ และเปิดพื้นที่รอบวิหารให้โล่งสร้างภูมิทัศน์สวยงามคืนแก่โบราณสถาน"
ส.ส. พระนครศรีอยุธยากล่าว

ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ประเด็นแรกเรื่องที่หวั่นเกรงกันนั้น ความจริงยูเนสโกยังไม่มีหนังสือเตือนแต่อย่างใดว่าจะถอน

หรือยังไม่มีหนังสือแจ้งว่าจะขึ้นทะเบียนเพื่อถอดถอนและเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นข่าวทางกรมศิลปากรอ้างว่าเตือนกันเองก่อนจะสาย ซึ่งหากเป็นเจตนาตามนั้นก็เป็นเรื่องดีและเห็นว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือ แต่ประเด็นเรื่องไม่อยากถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น เห็นว่าท้องถิ่นพูดมีเหตุผล จึงมอบหมายอธิบดีกรมการปกครองและอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันศึกษาประเด็นนี้ เพราะประเทศไทยมีโบราณสถานมากมายเกือบทุกจังหวัด ซึ่งต้องศึกษาด่วนเรื่องถ่ายโอนอำนาจและความพร้อมของท้องถิ่น ปัจจุบันทราบ ว่าโบราณสถานวัดร้างที่ไม่เกิดรายได้มีการถ่ายโอนแล้ว แต่โบราณสถานที่เก็บค่าเข้าชมยังไม่ถ่ายโอน

"สำหรับการแก้ไขปัญหาร้านค้ารอบวิหารหลวงพ่อมงคลบพิตรนั้น จะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวแก้ไขไม่ได้ ต้องอาศัยหลักรัฐศาสตร์ดำเนินการจึงจะดีที่สุด สำหรับความคิดของผมต้องเร่งแก้ไข โดยอย่าเรียกว่าขับไล่หรือรื้อย้าย แต่ให้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าเพื่อหาแนวทางร่วมแก้ไข ผมเองคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือต้องจัดสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวโดยรวมเอาที่จอดรถ ร้านค้าไว้ที่เดียว และขึ้นทะเบียนพ่อค้าแม่ค้าทั้งหมดทั้งชุดเก่า 120 ราย และชุดใหม่ 300 ราย จัดสรรที่ค้าขายในศูนย์แห่งใหม่อย่างยุติธรรม ซึ่งที่แห่งใหม่หลายฝ่ายเห็นว่าหลังศาลากลางหลังเก่าเหมาะสม จากนั้นต้องห้ามขายของในเขตโบราณสถานโดยเด็ดขาด เมื่อทำเป็นระเบียบแล้วต้องป้องกันการบุกรุกในอนาคตด้วย"
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ด้านนายปรีชา กมลบุตร ผู้ว่าฯพระนครศรี อยุธยา เปิดเผยว่า

จะเรียกทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบมาประชุมโดยด่วนตามที่รมว.มหาดไทยให้แนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นจะใช้งบประมาณของจังหวัดดูแลภายใน 3 เดือน ปัญหาต่างๆเรื่องร้านค้ารอบวิหาร พระมงคลบพิตรและแนวกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์ จะได้รับการแก้ไข มั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เชื่อว่าทุกคนรักอยุธยาเหมือนกัน ความเป็นมรดกโลกของอยุธยาจะต้องอยู่ตลอดไป ถ้าได้รับความร่วมมือ ไม่มีใครถอดถอนได้

นางจรินทร์ ศรีสังข์ อายุ 57 ปี แม่ค้าขายโรตีหลังวิหารพระมงคลบพิตรมานานกว่า 15 ปี กล่าวว่า

ได้ยินข่าวเรื่องอยุธยาจะถูกถอดจากมรดกโลกมาหลายวันแล้ว ไม่รู้สาเหตุเป็นเพราะอะไรส่วนร้านค้าต่างๆที่ตั้งขายอยู่หน้าวิหาร เป็นพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มเดียวกับที่เดิมที่ขายในอาคารทรงไทย ซึ่งเทศบาลจัดสรรให้อย่างถูกต้อง แต่ระยะหลังมีร้านค้ามาตั้งขายอยู่ริมกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทำให้มองดูภาพไม่สวย งาม และร้านค้าที่ถูกต้องขายสินค้าไม่ได้เลยออกมารวมตัวตั้งเต็นท์ขายสินค้าอยู่ด้านข้างและด้านหน้า เหมือนเป็นประท้วง ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยแก้ไข ร้านค้าที่ตั้งขายด้านหน้าทุกร้านยินดีร่วมมือถ้าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นธรรม

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์