ผงะ!ฝรั่งขนเงินกลับ2แสนล้าน โกยกำไร-ปันผลเมินลงทุนเพิ่ม

ประชาชาติธุรกิจ

เปิดตัวเลขนักลงทุนต่างชาติโกยปันผล-กำไรกลับอื้อซ่า เฉพาะปี 2548 กวาดไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท จากอุตสาหกรรม-ค้าปลีก-อสังหาริมทรัพย์ สวนทางตัวเลขการลงทุนโดยตรงที่หดลงเรื่อยๆ ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นโป่งสุดๆ ตามผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่กำไรพุ่งเป็นกอบเป็นกำ เฉพาะปี 2548 กำไรรวมทั้งตลาดกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่นักวิชาการชี้ยิ่งพัฒนาโดยการพึ่งพาต่างชาติประเทศไทยยิ่งจนลง ทรัพยากรยิ่งร่อยหรอ

จากนโยบายของรัฐบาลทุกสมัยต่างเปิดประเทศดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน ทั้งการลงทุนโดยตรงและทางอ้อม และสำหรับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ โดยพยายามสร้างแรงจูงใจในแง่การปรับโครงสร้างภาษี เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับโครงสร้างภาษีอุตสาหกรรมยานยนต์ จูงใจให้ภาคธุรกิจพัฒนางานด้านวิจัย โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงกว่าที่จ่ายจริง 2 เท่าตัว

นอกจากนี้ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับเปลี่ยนบทบาทให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เช่น การออกไปทำมาร์เก็ตติ้งในต่างประเทศด้วยการโรดโชว์ ว่าไทยจะเป็นฮับในด้านต่างๆ การได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี (หากได้บีโอไอไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี) ขณะที่ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ทำการตลาดโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยหวังว่านโยบายเหล่านี้จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้า

จากนโยบายดังกล่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมการลงทุนจากต่างประเทศทั้งโดยตรงในกิจการต่างๆ และโดยอ้อม (ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ) จากตัวเลขพบว่าการลงทุนโดยตรงมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ อยู่ในระดับกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นมีการเข้ามาซื้อและขายรวมค่อนข้างสูง บางปีมูลค่าการซื้อขายทะลุ 1 ล้านล้านบาท บางปีก็ 2 ล้านล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

แต่เมื่อนำมูลค่าซื้อและมูลค่าขายมาหักกลบกันแล้ว การซื้อขายหุ้นสุทธิบางปีก็ติดลบ บางปีก็เป็นบวก จากตัวเลขตั้งแต่ปี 2543-2548 เป็นดังนี้ -33,068 ล้านบาท, -6,426 ล้านบาท, 14,338 ล้านบาท, -24,609 ล้านบาท, 5,612 ล้านบาท และ 118,542 ล้านบาท ตามลำดับ

จากการตรวจสอบพบว่าหากพิจารณาผลตอบ แทนจากการลงทุนที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและได้รับผลตอบแทนทั้งรูปเงินปันผลและกำไรจากการลงทุน

ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศได้ขนกลับประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จากปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยคึกคักมากสุด มีการนำผลตอบแทนกลับไป 33,153 ล้านบาท ขณะที่ปี 2548 ได้นำเงินปันผลและกำไรออกไปจำนวน 192,789 ล้านบาท

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายว่า ถ้าหากดูจากตัวเลขดังกล่าวสามารถดูได้จากบัญชีดุลการชำระเงิน จะพบว่าประเทศไทยมีรายจ่ายที่นักลงทุนต่างประเทศขนเงินกลับจากการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในรูปของเงินปันผลและกำไรซึ่งจะปรากฏอยู่แล้ว

สำหรับการลงทุนโดยตรงที่ต่างชาติเข้ามาเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า อาทิ การค้าปลีก ค้าส่ง การลงทุนในบริษัทโฮลดิ้ง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้รายงานต่ออีกว่า ในระยะ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯดีขึ้นอย่างมาก ในปี 2546 มีกำไรสุทธิรวม 337,986 ล้านบาท ปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 474,053 ล้านบาท และปี 2548 มีกำไรสุทธิรวม 537,386 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกำไรสูงสุดเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มบริการ

ต่อเรื่องดังกล่าว ดร.ฉวีวรรณ สายบัว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หลังจากประเทศไทยใช้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศเพื่อเร่งรัดการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยใช้ทรัพยากรต่างประเทศหรือทุนต่างประเทศมาแล้วกว่า 40 ปี (นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี 2505-2509) ก็พอจะพิสูจน์ให้เห็นกันแล้วว่า ผลที่เกิดขึ้นตามมาเป็นความล้มเหลวอย่างไร แม้ว่ายุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากรจากต่างประเทศโดยเสรีและขนานใหญ่ได้ช่วยให้ประเทศไทยขยายกำลังการผลิตและรายได้ในอัตราที่นับว่าน่าพอใจ แต่ทรัพยากรของประเทศไทยก็ร่อยหรอลงไปมาก ประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในฐานะด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ

"การพึ่งพาทรัพยากรต่างประเทศไม่ได้ลดน้อยลง จนเราสามารถเป็นอิสระจากต่างประเทศได้ในระดับที่น่าพอใจสักวันหนึ่ง และยิ่งปัจจุบันที่ราคาพลังงาน เทคโนโลยีและวัตถุปัจจัยจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้และส่งออกเป็นอันมาก ต้นทุนการผลิตของประเทศสูงและราคาจำหน่ายไม่ดี กำไรและรายได้ตกต่ำ ส่งผลให้การลงทุนตกต่ำไปด้วย และโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ของประเทศก็เหือดแห้ง จึงนึกภาพไม่ออกว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นดีขึ้นได้อย่างไร จะกลับมาเติบโตตามปกติได้อย่างไร เศรษฐกิจไทยจะพึ่งตนเองได้อย่างไร การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์อย่างไร หรือเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นเรื่องที่พูดกันมากขึ้นในขณะนี้ได้อย่างไร"

อนึ่ง ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งที่จะให้ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์เอเชีย คือเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกในเอเชีย หรือนโยบายล่าสุดที่พยายามให้ไทยเป็นแหล่งการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ในภูมิภาคนี้อีกครั้ง รวมทั้งการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการว่า ประเทศไทยทำได้แค่รับจ้างทำของเท่านั้น และประชาชนและประเทศไทยไม่ได้รับมูลค่าเพิ่มใดๆ นอกจาก ค่าจ้างแรงงานเท่านั้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์