อีก 10 ปี กทม.จะเป็นเมืองใต้บาดาล หากอุณหภูมิสูงขึ้น 2-6 องศา

นับตั้งแต่พิบัติภัยสึนามิถาโถมเข้าใส่ชายฝั่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล คนทั่วโลกเริ่มหันมามองว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ ตามติดมาด้วยพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มประเทศพม่าและเหตุแผ่นดินไหวในประเทศจีน


หลายประเทศทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่อาจจะล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ในชั่วข้ามคืน

หากไม่มีมาตรการรับมือดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านการเตือนภัย แล้วประเทศไทย โอกาสที่จะเผชิญกับมหันตภัยทางธรรมชาตินี้มีมากน้อยแค่ไหน ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะเป็นผู้ให้คำตอบ ตอนนี้มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่กับอะไร 4 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้รับความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งพายุและแผ่นดินไหว


ขณะนี้โลกเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติที่มีความผิดปกติจนเห็นได้ชัด

ทั้งเรื่องความรุนแรง ที่มีผลกระทบต่อทรัพย์สินและผู้คนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีให้เห็นเรื่องของการเกิดภัยพิบัติถี่ขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ระบุว่า สาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติที่ผิดปกตินี้มีผลกระทบมาจากสภาวะโลกร้อน อย่างเช่นภัยธรรมชาติที่เห็นได้ชัดคือพายุนาร์กีสที่ประเทศพม่า ที่ก่อตัวในมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงพอ แต่สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวนั้น ทางวิชาการถือว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ


ประเทศไทยมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบของพายุมากน้อยแค่ไหน

บอกได้เลยว่าประเทศไทยมีอัตราเสี่ยงภัยพายุแน่นอนและมีทุกปี ขึ้นอยู่กับว่าปีไหนมีน้อย ปีไหนมีมาก แต่สำหรับปีนี้มีอัตราเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม จะมีมรสุมที่ก่อตัวมาจากมหาสมุทรแปรซิฟิกเข้ามาทางอ่าวไทย และมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลางจนถึงภาคเหนือ ซึ่งผลกระทบจะเกิดกับชุมชนใหญ่ๆ เมืองใหญ่ๆ ของประเทศแน่นอน ขณะนี้เราก็ยังไม่สามารถคำนวณได้ว่า ความรุนแรงจะมากน้อยแค่ไหน จะเท่าพายุนาร์กีสหรือไม่ อาจน้อยหรือมากกว่า เพราะเราต้องรอให้พายุที่จะเกิดขึ้นนั้นก่อตัว เคลื่อนตัว ขึ้นมาก่อน เราถึงจะคำนวณได้จากทิศทาง เส้นผ่าศูนย์กลาง และแรงลม หากตรวจจับได้ว่ามีการก่อตัวของพายุกลางทะเล เราจะสามารถคาดคะเนได้ก่อน 3-5 วัน แต่หากให้คาดการณ์ได้ว่าพายุลูกต่อไปจะเกิดความรุนแรงมากเท่าไร อันตรายแค่ไหน ไม่มีหลักวิทยาศาสตร์ไหนตอบได้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวไหม

อย่างที่บอกการเกิดแผ่นดินไหวนั้นเป็นภัยธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งโลกประสบมาหลายร้อยล้านปี

การเกิดแผ่นดินไหวมีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยพลังงาน ระบายพลังงาน จากใจกลางใต้ผิวโลกมาสู่พื้นผิวโลก อันนี้ปกติ ซึ่งพลังงานใต้เปลือกโลกยังมีอีกมหาศาล สำหรับประเทศไทยนั้นโชคดี เราไม่มีพื้นที่อยู่บนหรือใกล้รอยแยกของเปลือกโลกเหมือนประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย พื้นที่เสี่ยงของไทยต่อการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ไหน ประเทศไทยของเราอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก มี 13 จุดทั่วประเทศที่เราเฝ้าระวัง ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ไล่ลงมาทางกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ไปถึงจนภาคใต้ ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินยุบตัว แผ่นดินถล่ม ก็ต่อเมื่อเกิดการปลดปล่อยพลังงานผ่านรอยเลื่อนดังกล่าวรอยหนึ่งรอยใดก็จะได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเราไม่รู้อีกว่ามันจะรุนแรงแค่ไหน  


ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในประเทศไทยคืออะไร


ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของอาคารสูงว่า สามารถทนทานต่อการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอาคารหลายแห่ง เอาแค่ใน กทม.มีการสร้างมานานแล้ว ตรงนี้วิศวกรหลายคนพูดเหมือนกันว่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาดกลาง เพียงแค่ 7-8 ริกเตอร์ ก็จะมีตึกหลายตึกทรุดตัวลงมา เพราะทนแรงสั่นสะเทือนไม่ได้ เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพียงแต่ภาวนาว่าอย่าเกิดการปล่อยพลังงานที่บริเวณรอยเลื่อนในไทยเลย ไม่เช่นนั้นก็คงเห็นภาพตึกหลายตึกพังลงมา เพราะกฎหมายบ้านเราไม่เคยระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการรองรับเรื่องนี้ไว้เลย อันที่จริงแล้วเราต้องออกกฎหมายเหล่านี้มาป้องกันเหตุสุดวิสัยนี้ แต่ตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้เลยต่างก็สร้างเอาราคาถูกเข้าว่า


ประเทศไทยมีความพร้อมในการเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน
 

เรื่องพายุหรือลมมรสุมเนี่ยผมแน่ใจว่า กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์ตัววัด การเฝ้าระวัง รวมไปถึงการเตือนภัยที่ดี ดีจนแทบจะบอกได้ว่าเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าเราจะเอาข้อมูลที่กรุมอุตุฯ เตือนไปบอกชาวบ้านอย่างต่อเนื่องยังไงมากกว่า หากเขารับรู้ชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านก็คงจะปลอดภัย แต่เรื่องแผ่นดินไหวนั้นยอมรับว่าขณะนี้ก็คงพยายามติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันเราก็มีแต่มันยังไม่สมบูรณ์เท่าไร แต่ก็อยู่ในมาตรฐานที่รับได้


นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนมีอะไรอีก


จากที่มีการศึกษาและหากเป็นจริง อีกภายใน 50 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้นอีกประมาณ 2-6 องศา ผลที่ตามมาคือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหลายฟุต เนื่องจากการละลายของน้ำแข็งลงสู่มหาสมุทร ก่อให้เกิดการพังทลายของแนวชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะเมื่อมีพายุรุนแรง การสูญเสียตามแนวชายฝั่งและแนวชายหาด ที่ลุ่มน้ำขัง และอุตสาหกรรมตามแนวชายฝั่ง น้ำเค็มจะแพร่เข้าสู่พื้นดิน ก่อปัญหาแก่น้ำบริโภค ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล และน้ำเค็มซึมสู่แหล่งน้ำจืดใต้ดิน เกิดพายุที่มีความรุนแรงมากขึ้นและบ่อยครั้ง แหล่งการเกษตรและการประมงจะเปลี่ยนแปลง เช่น ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศแคนนาดา และสหภาพโซเวียตอาจเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตของสหรัฐอเมริกาลดลง

มีการเลื่อนตัวของแนวร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้ปริมาณฝนในบางพื้นที่ตลอดจนตำแหน่งพายุเปลี่ยนแปลง

คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและบ่อยขึ้น การลดลงของก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ มีผลต่อเนื่องถึงสุขภาพของมนุษย์ขาดโภชนาการต่อเนื่อง ทำให้เกิดโรคต่างๆ และเกิดโรคพืชและโรคสัตว์ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหากอุณหภูมิสูงขึ้น 2-6 องศา หลังจากนี้ไปน้ำทะเลจะสูงขึ้นทุกวัน อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า กทม.จะกลายเป็นเมืองใต้บาดาลอย่างถาวร เรื่องนี้ผมพูดมานานมากแล้ว ทุกวันนี้ผมท้อ เพราะหลายครั้งที่ผ่านมา ผมและนักวิชาการคนอื่นพูด ผมวิเคราะห์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เห็นจะมีผลอะไร แทนที่จะเอาไปตั้งคณะกรรมการศึกษา สิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ หาแนวทางป้องกัน กลับนิ่งเฉยไม่ทำอะไร ผมต่อสู้มาหลายรัฐบาล แต่ไม่ได้รับความสนใจ หลายสิ่งหลายอย่างมีคนต่อต้านค้านไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้ผมก็เลยไม่พูด ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมของประเทศ หากเกิดสภาวะแบบนั้นจริงๆ ซึ่งมันก็ช้าไปกับการที่จะหาวิธีป้องกันอย่างที่เราคำนวณไว้

การพัฒนาศักยภาพและทิศทางในอนาคตของศูนย์เตือนภัยฯ


เราพยายามที่จะพัฒนามาตลอด ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเลย ไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำประเทศ ไม่ได้รับการพัฒนาในทิศทางที่ควรจะเป็น คือมีศักยภาพและมาตรฐานสากล เทียบเท่าที่เขาเจริญแล้ว เช่น สิ่งที่มองเห็นได้ชัดว่าเราด้อยกว่าเขาคือ เราไม่มีสถานภาพที่ชัดเจน องค์กรไม่มีการระบุชัดเจนว่าทำอะไร อยู่ในระดับไหน มีเจ้าหน้าที่เท่าไร อะไรต่างๆ ไม่มีความแน่ชัด จึงไม่มีผลงานที่จะออกไปต่อสาธารณชน ที่อยู่ได้มาถึงทุกวันนี้เป็นการประคับประคองเท่านั้น หากต้องการที่จะพัฒนาป้องกันอย่างจริงจัง ต้องทำในวันนี้ก่อนที่มันจะสายไป


คนไทยควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้


ก็คงต้องทำตัวปกติ อย่าวิตกกังวลมากไป ติดตามข่าวสารที่มีการเตือนออกมา ศึกษาวิธีการป้องกันไว้บ้าง อย่างเช่นหากเกิดแผ่นดินไหวควรจะทำตัวอย่างไร ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้ก็มีการประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั่นคือตอนนี้เรารับรู้แล้วว่า สาเหตุที่ในระยะนี้ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง เนื่องจากโลกได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยาความร้อนของเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น หากอุณหภูมิในทะเลสูงขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ก็จะทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนที่มนุษย์จะต้องหยุดทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยการปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์