ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นายสิทธิชัย จันทรศิลปิน นักวิชาการท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดเผยว่า

ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร (Occultation Mar) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปกติที่เกิดขึ้นได้ในระบบสุริยจักรวาล โดยวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ทั้งหลาย จะอาศัยเส้นทางเดินใกล้ๆ กัน คือ อยู่ในแถบกลุ่มดาวจักรราศี และดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ฉะนั้นจึงมีโอกาสเคลื่อนไปบังวัตถุได้ทั้งหมด หากดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสุริยุปราคา แต่กรณีของดวงจันทร์บังดาวอังคารไม่มีผลอะไรกับโลก สภาวะอากาศยังคงปกติ อย่างไรก็ตาม การเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารนี้ไม่เห็นพร้อมกันทั่วโลก เห็นเฉพาะในทวีปยุโรปบางส่วน ทวีปแอฟริกาบางส่วน ทวีปเอเชียบางส่วนและภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ในพื้นที่ที่ไม่เห็นก็จะเห็นดาวอังคารอยู่ใกล้กับดวงจันทร์มาก ทั้งนี้ปรากฏการณ์เช่นนี้จะไม่มีกำหนดระยะเวลาในการเกิด

นายสิทธิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารนี้ ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทยจะเริ่มมองเห็นในเวลา 21.55.59 น. และสิ้นสุดในเวลา 22.42.34 น.

ที่น่าสนใจตรงที่ดวงจันทร์ในคืนวันที่ 10 พ.ค. เป็นดวงจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ คือ ดวงจันทร์ไม่เต็มดวง มีขนาดไม่ถึงครึ่งดวง จึงมีส่วนที่เราไม่เห็นคือส่วนที่ดวงจันทร์ไม่เต็มดวง ซึ่งเมื่อเริ่มปรากฏการณ์ดวงจันทร์จะเคลื่อนจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ทำให้ดาวอังคารเริ่มหายเข้าไปในส่วนของดวงจันทร์ที่ไม่เต็ม และขณะเริ่มปรากฏการณ์ดวงจันทร์จะอยู่เลยท้องฟ้าไปทางทิศตะวันตกเป็นมุมเงยประมาณ 20 องศา ถือว่าไม่สูงมากนัก และเมื่อดวงจันทร์เลื่อนพ้นดาวอังคารออกมาดวงจันทร์ก็จะอยู่ต่ำลงอีกเป็นมุมเงยประมาณ 9 องศา จากขอบฟ้าทางทิศตะวันตก

"ในประเทศไทยอยู่ภาคใดก็เห็นปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน จะแตกต่างเวลานับเป็นเสี้ยวนาทีเท่านั้น และระหว่างเกิดปรากฏการณ์เป็นเวลาเกือบชั่วโมงเราจะไม่เห็นดาวอังคารเลย แต่ถ้าเกิดฟ้าหลัว มีเมฆเยอะ ฝนตก ก็จะหมดโอกาสเห็นปรากฏการณ์นี้เช่นกัน หรือผู้ที่อยู่ในเมืองมีตึกสูงบัง ควรหาที่โล่งแจ้ง ดาดฟ้า หรือบนตึกสูงดู มิฉะนั้นอาจมองไม่เห็น เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ต่ำมากสูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกเพียง 20 องศาเท่านั้น หากอยู่กลางเมืองอาจมองไม่เห็น นอกจากนี้ปรากฏการณ์ลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน และเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ด้วย แต่ทั้งสองปรากฏการณ์จะมองไม่เห็นในประเทศไทย" นายสิทธิชัยกล่าว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์