เพิ่งพบใหม่ในโลก ด้วง 3 ชนิดของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ว่า
 
จากการเปิดเผยของนายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ นักกีฏวิทยา 7 ว. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่า จากการศึกษาความหลากหลายของด้วงปีกสั้นในพื้นที่ป่าต่อเนื่องภาคตะวันออกของไทย

พบว่าด้วงวงศ์ ย่อย ชีลาฟินาอี้ (Pselaphinae)
ในวงศ์ สปาไฟลินิเดอี้ (Staphylinidae) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีชนิดและปริมาณที่หลากหลายมากชนิดกว่าด้วงอื่นๆ เนื่องจากมีการกระจายพันธุ์ได้กว้างขวางทั่วโลก ที่จำแนกได้แล้วนับหมื่นชนิดชอบอาศัยอยู่ใต้ซากใบไม้ในป่าเขตร้อนชื้น ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เพิ่งมีการสำรวจด้วงในวงศ์ย่อยดังกล่าวในเมืองไทยเพียง 40 ชนิดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แต่จากการศึกษาทำให้พบด้วงชนิดใหม่ในโลกที่ป่าในแถบตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขาสอยดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขาคิชฌกูฏ ซึ่งได้มีการจัดส่งให้ ดร.ชูเฮอิ โนมูระ (Shuhei Nomura) ผู้เชี่ยวชาญด้านด้วงจากพิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติวิทยา ประเทศญี่ปุ่น ตรวจสอบแล้วพบว่าในจำนวน 3 ชนิดจากที่เก็บตัวอย่างได้จากพื้นที่ทั้งหมด 105 ชนิดนั้นเป็นด้วงชนิดใหม่ของโลก และล่าสุดได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว และกำลังได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ด้านด้วงของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของญี่ปุ่นในเร็วๆ นี้

นักกีฏวิทยา กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า
 
สำหรับ ด้วงในวงศ์ย่อย ชีลาฟินาอี้ (Pselaphinae) ที่เพิ่งค้นพบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกและถือเป็นชนิดใหม่ของโลกในกลุ่มด้วงปีกสั้นดังกล่าว และมีการตั้งชื่อเรียบร้อย แล้วคือ Articerodes thailandicus หรืออาร์ทิเซอรอดส์ ไทยแลนดิคัส ส่วนตัวที่ 2 ชื่อว่า Articerodes Ohmumoi หรืออาร์ทิเซอรอดส์ โอมูโมอิ เพื่อเป็นเกียรติ แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านด้วงจากญี่ปุ่น และตัวที่ 3 ชื่อว่า Articerodes Jariyae หรืออาร์ทิเซอรอดส์ จาริเย โดยด้วงเหล่านี้ถือว่าเป็นด้วงที่มีความเฉพาะเจาะจง และบ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ ของป่าแถบตะวันออกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพบว่าปริมาณ และการกระจายพันธุ์ของด้วงจะขึ้นกับลักษณะของความสมบูรณ์ของป่าด้วย โดยเฉพาะในป่าดิบชื้นในเขตป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี ป่าดิบแล้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนจะมีด้วงมาก ขณะที่ป่าที่เปลี่ยนแปลง เช่นป่าสักรุ่นที่สองและป่าดิบแล้ง ก็จะพบด้วงน้อยลง ทั้งนี้สันนิษฐานว่า สภาพนิเวศวิทยาของป่าอาจมีผลทำให้แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นและปริมาณสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเปลี่ยนไปด้วย


“ด้วงปีกสั้นดังกล่าวมีความจำเพาะ เจาะจงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าดิบเขาที่มีความสูง จากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,100 เมตร โดยเฉพาะชนิดที่ 3 นั้นถือว่าพิเศษมาก เนื่องจากพบที่เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น และเป็นด้วงที่มีสีสันสวยงาม มีตัวสีน้ำตาลอมแดงทั้งตัว รูปร่างเหมือนกับน้ำเต้า และแตกต่างกับด้วงอื่นๆทั่วไปอย่างชัดเจน มีขนาดลำตัวเพียง 1.2 มิลลิเมตร มีหนวด 4 ปล้อง อย่างไรก็ตาม น่าเป็นห่วงว่าถึงแม้ว่าด้วงจะยังไม่อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก็จะกระทบโดยตรงกับถิ่นอาศัยของด้วงเหล่านี้ด้วย และอาจจะทำให้มันหายไปอย่างถาวรได้เช่นกัน ซึ่งการศึกษาด้วงในไทยยังได้รับความสนใจน้อย ทั้งที่มันสามารถเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดี ส่วนด้วงที่เหลือก็จะจำแนกชนิดต่อไป” นายวัฒนาระบุ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์