ปิดไฟ 1 ชม. ลดโลกร้อน ทุ่นได้ 6 แสน

หลังจากที่กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ร่วมกับนานาชาติพร้อมใจกันจัดกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน ด้วย การรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง (Earth Hour) เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง

และในปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. ระหว่างเวลา 20.00-21.00 น.

ซึ่งมีเมืองใหญ่ทั่วโลก
อาทิ ซิดนีย์ เพิร์ธ เมลเบิร์น แคนเบอร์ร่า บริสเบน โคเปนเฮเกน ชิคาโก ซานฟรานซิสโก ฯลฯ เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก (ประเทศไทย) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ฯลฯ ร่วมจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” หรือ “60 เอิร์ธ อาวร์” (60 Earth Hour) โดยมีการจัดงานที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ซึ่งภายในงานก่อนที่จะเริ่มการปิดไฟ มีการแสดงดนตรีจากนักร้องศิลปินค่ายต่างๆ อาทิ บีม ดีทูบี ศิลปินเอเอฟ ท่ามกลางคนมาร่วมงานหลายร้อยคน 


ทั้งนี้ นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม. ประธานเปิดงาน ได้กล่าวว่า

กิจกรรมครั้งนี้นอกจากเป็นการสานต่อโครงการหยุดภาวะโลกร้อนใน กทม.แล้ว ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนให้มีจิตสำนึก ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ใส่ใจสภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเผยแพร่กิจกรรมลดภาวะโลกร้อนของ กทม.ไปสู่สาธารณะ อันจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมี กทม. ได้ขอความร่วมมือไปยังส่วนที่ใช้กระแสไฟฟ้าหลัก คือกลุ่มบ้านพักอาศัย กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หน่วยงานราชการ รวมทั้งการปิดไฟถนนสายหลักของ กทม. 6 สาย ได้แก่ ถนนเยาวราช สีลม ราชดำเนิน ข้าวสาร เพชรบุรีตัดใหม่ และรัชดาภิเษก ซึ่งคาดว่าการใช้ไฟช่วงเวลา 20.00-21.00 น. จะลดปริมาณการใช้ได้ร้อยละ 30 หรือ 1,500 เมกะวัตต์ จากปกติในช่วงเวลาดังกล่าวของวันเสาร์ เป็นช่วงที่มีการใช้ไฟสูงสุดในแต่ละวัน ซึ่งจากสถิติการใช้ไฟสูงถึง 5,000 เมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าฯจะได้แสดงภาพการใช้ไฟฟ้าเปรียบเทียบในช่วงปิดไฟ
 

จากนั้นเมื่อถึงเวลาดับไฟในเวลา 20.00 น. บริเวณจุดจัดงานได้มีการปิดไฟเวที และไฟตามท้องถนนโดยรอบ ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า

การปิดไฟในครั้งนี้แม้ไม่ได้ทำให้ บรรยากาศโดยรอบมืดมิดไปทั้งหมด เพราะห้างและโรงแรมในบริเวณใกล้เคียง ทำเพียงปิดไฟด้านหน้าเท่านั้น แต่ก็ถือว่าได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เว้นแต่ที่น่าแปลกใจคือผู้สัญจรไปมาหลายรายต่างกล่าวตรงกันคือ ไม่รู้ว่ามีการรณรงค์ให้ปิดไฟในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ นายเจษฎา พงษ์ลือเลิศ พนักงานส่งเอกสาร ที่กล่าวว่าตอนที่ผ่านมาบริเวณนี้นึกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด เพราะไฟดับมืดไปหมด แต่เมื่อแวะเข้ามาดูแล้วเห็นเวที ก็นึกว่ามีการเล่นคอนเสิร์ต แต่พอสอบถามเจ้าหน้าที่จึงทราบว่าเป็นงานรณรงค์ดับไฟลดภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่ทราบมาก่อน ความจริงน่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เพราะเท่าที่สังเกตมีการปิดไฟแค่บริเวณจัดงานเท่านั้น แต่อาคารและโรงแรมที่อยู่โดยรอบไม่มีการปิดไฟแต่อย่างใด ก็ไม่เข้าใจว่า กทม.มีการแจ้งให้ทราบหรือไม่ นอกจากนี้ เห็นว่าประเทศกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ น่าจะประหยัดเงินเอาไปใช้อย่างอื่นดีกว่า
 

กระทั่งหลังเวลา 21.00 น. หรือครบ 1 ชั่วโมงในการปิดไฟ นายบรรพต แสงเขียว ผู้ช่วยผู้ว่าการการ กฟผ.ด้านการใช้ไฟฟ้า ได้เปิดเผยถึงผลของการปิดไฟในครั้งนี้ว่า

หลังดับไฟไป 1 ชม. ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าใน กทม. ลดลง 73.34 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ ไฟฟ้าทั่วประเทศช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงไป 165 เมกะวัตต์ สามารถลดปริมารก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวน 102 ตัน คิดเป็นเงินที่ลดลงไป 6 แสนบาท
 

สำหรับในต่างประเทศ ซึ่งนครซิดนีย์ในออสเตรเลียเป็นเมืองแรกของโลกที่ร่วมกิจกรรม “เอิร์ธ อาวร์”

ปิดไฟลดการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยจะมีการดับไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตามสถานที่สำคัญ เช่น โอเปร่า เฮาส์ และสะพานฮาร์เบอร์ ในเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือเวลา 16.00 น. ตามเวลาในไทย ตามด้วยนิวซีแลนด์ และฟิจิ จากนั้นจะถึงคิวกรุงเทพฯ และกรุงมะนิลา ก่อนขยายขอบข่ายสู่ยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะร่วมดับไฟฟ้าในเวลา 2 ทุ่ม ตรงเช่นกันตามเวลาของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนี้ มีรายงานว่าเมื่อปีที่แล้วมีประชาชน 2 ล้านคน กับบริษัทธุรกิจกว่า 2 พันแห่ง เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในซิดนีย์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 10.2 และหากดับไฟวันละหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันนานหนึ่งปี จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับการไม่นำรถยนต์ถึง 48,616 คัน ออกวิ่งตามท้องถนน
 

ด้านนายแอนดี้ ริดเลย์ ผู้ก่อตั้งการรณรงค์ “เอิร์ธ อาวร์” ระบุปีนี้มีผู้เข้าร่วมดับไฟสู้โลกร้อนสูงถึง 30 ล้านคน และว่ารู้สึกประหลาดใจที่การรณรงค์แพร่ขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วนับจากกองทุนสัตว์ป่าโลก องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ริเริ่มขึ้นในนครซิดนีย์เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา และในปีนี้มีราว 370 เมืองทั้งใหญ่และเล็กในกว่า 35 ประเทศทั่วโลก ลงนามเข้าร่วมการรณรงค์ดังกล่าว รวมทั้งนครชิคาโก ซานฟรานซิสโก และแอตแลนตาในสหรัฐฯ โตรอนโต และแวนคูเวอร์ ของแคนาดา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์