ปรับตกทุกวิชา ฟันโกงโอเน็ต

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค นายสงบ ลักษณะ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหาร สทศ. ว่า

ที่ประชุมได้พิจารณาการลงโทษนักเรียนที่ทุจริตการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้น ม.6  ขณะนี้ สทศ. ได้รับรายงานจากศูนย์สอบ 10 ศูนย์จาก 18 ศูนย์ทั่วประเทศ พบว่าศูนย์สอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ทุจริต 6 ราย ใน 4 กรณี โดยกรณีที่นักเรียน 2 คน เขียนคำตอบวิชาภาษาอังกฤษใส่ยางลบส่งให้กันในห้อง น้ำ และกรณีที่นักเรียนคนแรกทำข้อสอบเสร็จก่อนแล้วส่งคำตอบให้คนที่ 2 ผ่านโทรศัพท์มือถือที่วางไว้ระหว่างขาในวิชาภาษาอังกฤษนั้น ที่ประชุมมีมติให้ปรับตกในวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนกรณีที่เปิดมือถือไว้แล้วมีผู้โทรศัพท์เข้า มาในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ ที่ประชุมมีมติให้ปรับตกในวิชาคณิตศาสตร์ และกรณีสุดท้ายนักเรียนใช้นาฬิกามือถือเป็นเครื่องมือทุจริต ที่ประชุมมีมติให้ปรับตกทั้ง 6 วิชา เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำทุจริตที่มีการวางแผนมาล่วงหน้า และมีการทุจริตมาตั้งแต่การสอบวิชาแรกแล้ว 


นายสงบกล่าวอีกว่า
 
ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีผู้ประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเข้าสอบโอเน็ต ม.6 ได้ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้มีการจัดสอบโอเน็ตใหม่ให้กับนักเรียนที่ยื่นเรื่องขอสอบมาที่ สทศ. ซึ่งได้แจ้งเหตุผล และส่งหลักฐานการขาดสอบมาทั้งสิ้นจำนวน 78 ราย อาทิ เจ็บป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์ ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ที่มีรายชื่อตกหล่น เนื่องจากไม่มีรายชื่อเข้าสอบจำนวน 724 ราย และนักเรียนเทียบเท่าชั้น ม.6 จำนวน 375 รายนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ไม่ใช่ความผิดของนักเรียน และคงเป็นความเข้าใจผิด จึงให้สอบใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับกลุ่มผู้ที่ขาดสอบโอเน็ตด้วยเหตุสุดวิสัยในปีการศึกษา 2549

ซึ่งยื่นเรื่องขอสอบมาจำนวน 22 รายนั้น หากมีหลักฐานหรือใบรับรองแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า ประสบเหตุสุดวิสัยจริงก็จะจัดสอบให้เช่นกัน ทั้งนี้ เด็กในกลุ่มผู้ประสบเหตุสุดวิสัย และรายชื่อตกหล่น จะต้องสมัครสอบโอเน็ตใหม่ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.niets.or.th ซึ่งจะเริ่มรับสมัครในวันที่ 8 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะจัดสอบได้ประมาณปลายเดือน มี.ค. และประกาศผลประมาณกลางเดือน เม.ย.นี้ สำหรับข้อสอบที่จะใช้สอบนั้นจะเป็นข้อสอบชุดใหม่ทั้งหมด ส่วนศูนย์สอบจะใช้ศูนย์สอบที่มหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งสิ้น 12 ศูนย์ แบ่งเป็น กทม.1 ศูนย์ และภูมิภาค 11 ศูนย์


ด้านนางอุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ. กล่าวว่า

หลังจากนี้ สทศ.จะทำหนังสือถึงโรงเรียนของเด็กที่กระทำการทุจริตทั้ง 6 ราย เพื่อให้ทราบว่า นักเรียนของท่านมีพฤติกรรมอย่างไร และถูกปรับตกในรายวิชาใดบ้าง นอกจากนี้ จะทำหนังสือส่งไปถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณาว่า จะรับเด็กที่กระทำการทุจริตทั้ง 6 รายเข้าเรียนต่อหรือไม่ ในกรณีที่เด็กได้รับโควตาหรือสอบผ่านการรับตรงไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการกับนักเรียนที่ทุจริตโดยใช้ โทรศัพท์มือถือนั้น ขณะนี้ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ที่ประชุมเชื่อว่าอาจกระทำเป็นเครือข่ายหรือกระบวนการ จึงต้องให้ มืออาชีพเข้ามาดำเนินการสืบสวนต่อไป 


ผอ.สทศ. กล่าวอีกว่า

สำหรับการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ซึ่งจะมีการจัดสอบในวันที่ 8-9 มี.ค.นี้นั้น อยากฝากเตือนนักเรียนทุกคนว่า อย่ากระทำการทุจริตใดๆ เลย สังคมไทยไม่ต้องการคนที่มีปัญญา แต่ไม่มีคุณธรรม อยากให้ทุกคนทำข้อสอบด้วยความสามารถของตนเองจะดีกว่า ทั้งนี้ ในการสอบ โอเน็ต หากเด็กคนใดพบเห็นว่ามีเพื่อนกระทำทุจริต สามารถแจ้งผ่านเว็บไซต์ www.niets.or.th ได้ ส่วนการสอบโอเน็ตในปีต่อไปนั้น คงจะต้องมีการประกาศให้ชัดเจน และให้เด็กทราบล่วงหน้าว่า หากเด็กมีการทุจริตจะต้องถูกลงโทษด้วยการปรับตกทันที และหากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะไม่ให้นักเรียนนำนาฬิกาเข้าห้องสอบด้วย ทาง สทศ.ก็คงต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดหานาฬิกาติดตั้งไว้ในห้องสอบทุกห้อง และตั้งเวลาให้ตรงกันทั้งหมดเพื่อให้นักเรียนได้ดู


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์