คนไทยทอดลมหายใจไปได้อีกหลายเฮือก เลื่อนเคาะขึ้นค่าไฟเอฟที!

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพลังงานว่า คณะอนุกรรมการกำกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เลื่อนการประชุมบอร์ดเอฟทีออกไป

จากเดิมที่กำหนดจะประชุมในวันที่ 13 ก.พ. เพื่อพิจารณาค่าเอฟทีรอบใหม่ (เดือน ก.พ.-พ.ค.) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้น อีก 5-6 สต./หน่วย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากทาง รมว.พลังงานคนใหม่ ต้องการให้มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดนี้ว่าจะมีแนวทางที่สามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนหรือไม่


ทั้งนี้ ในเบื้องต้นบอร์ดเอฟทีได้ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปจัดทำทางเลือกในการปรับขึ้นค่าเอฟทีแต่ละขั้นมีผลกระทบต่อภาระต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ไม่ปรับขึ้นเลยไปจนถึงปรับขึ้น 6 สตางค์/หน่วย โดยให้นำปัจจัยเรื่องต้นทุนที่จะสามารถช่วยคำนวณค่าเอฟทีไม่ให้ปรับขึ้นมากมาพิจารณาประกอบ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
 

อย่างไรก็ตาม ในหลักการต้องการให้ กฟผ.รับภาระในการปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดนี้ไปก่อน ซึ่งมีการคำนวณว่าค่าเอฟที 1 สต./หน่วยคิดเป็นจำนวนเงิน 400 ล้านบาท

โดยให้ไปพิจารณาว่าจะสามารถรับภาระได้กี่ สต. และให้ไปบวกค่าเอฟทีคืนในงวดที่มีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้บ้าง และวิธีการดังกล่าว กฟผ.เคยใช้มาแล้วโดยไม่ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น


สำหรับค่าเอฟทีงวดนี้  กฟผ.คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นเฉลี่ย 5-6 สต./หน่วย เนื่องจากราคาก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นจาก 195 บาท/ล้านบีทียูมาเป็น 205-206 บาท/ล้านบีทียู แม้ว่าก๊าซจะเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ แต่เมื่อมีการปรับขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูร้อนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีอยู่แล้ว ทำให้ รมว.พลังงานมีความเป็นห่วงผลกระทบของประชาชนที่จะเกิดขึ้น
 

นอกจากนี้ ขั้นตอนการประกาศค่าเอฟทีรอบนี้จะแตกต่างไปจากเดิมที่บอร์ดเอฟทีจะเป็นผู้ประกาศ แต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) ที่ได้แต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว  ดังนั้น  ต้องให้เวลาในการเตรียมพร้อมการทำงานของเรคกูเลเตอร์ด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  (กฟภ.) ว่า การเลื่อนพิจารณาค่าเอฟทีครั้งนี้ยังไม่กระทบต่อแผนการจัดพิมพ์บิลค่าไฟฟ้ารอบเดือน ก.พ.

เนื่องจากมีการปรับระบบการพิมพ์บิลค่าไฟฟ้าใหม่ ที่ต้องการให้วันแจ้งค่าไฟฟ้าของแต่ละบ้านพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 23-24 ของทุกๆเดือน เพื่อให้มีระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าครอบคลุมไปถึงสิ้นเดือนตรงกับวันเงินเดือนออกของผู้ใช้ไฟฟ้า แต่อย่างช้าที่สุดควรจะทราบค่าเอฟทีรอบใหม่ภายในสัปดาห์นี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาบิลตกค้างได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฟผ.ได้จัดทำภาพรวมการผลิตไฟฟ้าปี 2550-2551 โดยพยายามบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงให้ลดต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน แต่ใน เบื้องต้น ปี 2551 สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก 66% เป็น 72% ไม่ได้ลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ดีเท่าที่ควร  เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงได้ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน จึงทำให้ ค่าไฟฟ้าในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นบ้าง
 

ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเข้าระบบจำนวน 4 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ และโรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ หน่วยที่ 1-2 ประกอบกับบริษัท ปตท.สามารถส่งก๊าซฯเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์