2 เหตุผลที่ จุฬาฯ ติด 1 ใน 300 อันดับมหา′ลัยโลก อันดับ 15 ในเอเชีย

2 เหตุผลที่ จุฬาฯ ติด 1 ใน 300 อันดับมหา′ลัยโลก อันดับ 15 ในเอเชีย


เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับจากเว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ประจำปี 2013 ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 169 ของโลก อันดับที่ 15 ในเอเชีย และเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในประเทศไทย จุฬาฯนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่ติด 1 ใน 200 อันดับในปีนี้ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีกว่าปีที่แล้ว ที่จุฬาฯอยู่ในอันดับ 209 ของโลก อันดับที่ 22 ในเอเชีย และอันดับที่ 3 ในประเทศไทย

"การจัดอันดับของ เว็บโอเมตริกซ์นั้น เป็นการจัดอันดับโดยดูผลงานทางวิชาการผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ว่ามีผลงานที่มีผลกระทบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน โดยการที่จุฬาฯมีชื่อติดอันดับ 1 ของประเทศ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี และผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าจุฬาฯมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่สามารถสร้างสรรค์งานวิชาการรวมถึงผลิตงานวิจัยที่มีส่วนในการพัฒนาสังคม ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จากนี้จุฬาฯจะเดินหน้าพัฒนาผลงานในด้านต่างๆ ให้ก้าวหน้าต่อไป" นพ.ภิรมย์กล่าว

อธิการบดีจุฬาฯกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่จุฬาฯและมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอันดับ 201-250 ของไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชั่น แรงกิ้ง (Times Higher Education rankings) ปี 2013 นั้น ตนมองว่าการที่จุฬาฯติด 1 ใน 300 อันดับของไทม์ส ก็ด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ 1.บัณฑิตและบุคลากรของจุฬาฯ ออกไปสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก และ 2.ที่ผ่านมาจุฬาฯได้เร่งผลิตผลงานทางวิชาการและงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อ ประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่ผ่านมาจุฬาฯไม่มีชื่อติดอันดับโลก อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องตัวชี้วัดบางอย่าง ซึ่งไม่ตรงกับแนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่สถาบันจัดอันดับกำหนด

รายงานข่าวแจ้ง ว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกโดยเว็บโอเมตริกซ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง และส่งเสริมการเข้าถึงความรู้ทางวิชาการที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก โดยเน้นการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ในการจัดอันดับ อาศัยตัวชี้วัดต่างๆ ได้แก่ จำนวนหน้า (webpages) ของมหาวิทยาลัยที่นับผ่านการเสิร์ชหน้าแรกของกูเกิล (Google) จำนวนไฟล์ของมหาวิทยาลัยที่นับผ่านการค้นหาข้อมูลในส่วนของงานวิชาการผ่านกู เกิล (Google Scholar) ในช่วงปี 2008-2012 จำนวนบทความที่อยู่ใน 10% ของบทความที่มีการอ้างอิงมากที่สุดในสาขา โดยเก็บข้อมูลจาก Scimago group ในช่วงปี 2003-2010 จำนวนการอ้างอิงเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยจากบุคคลที่สาม ผ่านการเก็บข้อมูลจาก 2 แหล่งคือ Majestic SEO และ ahrefs



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์