เหี้ย ชุกกทม.หวั่นลดจำนวนเผ่นพ่านบนถนนโดนรถทับตาย

 
สัตวแพทย์เผย 'เหี้ย' ยังชุมกทม. คลอง 'ผดุงฯ-เปรมประชากร ทำเนียบ สภาฯ สุพรรณบุรี ภาคเหนือ' เพิ่มปริมาณรวดเร็ว เหตุพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ป่าริมน้ำเพิ่มขึ้น แต่เหตุที่ทำให้ลดประมาณเพราะพวกวัยเจริญพันธุ์ไปเดินเพ่นพ่านบนถนนจนโดนรถทับตาย

นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) อลงกรณ์ มหรรณพ สัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง ให้สัมภาษณ์วันที่ 29 มกราคม ว่า

จากเดิมเมื่อประมาณกลางปี 2550 ได้สำรวจปริมาณตัวเหี้ยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า ในแต่ละเขตมีจำนวนตัวเหี้ยเขตละประมาณ 200 ตัวนั้น ล่าสุดถึงวันนี้พบว่า จากการประเมินด้วยสายตาการพบเห็น และการได้รับแจ้งจากประชาชนกรณีพบเห็นตัวเหี้ยบุกเข้าไปคุ้ยเขี่ยถังขยะภายในบริเวณบ้านนั้น ปรากฏว่าปีนี้ปริมาณลดลงจากปีที่ผ่านมาจำนวนมาก เพราะพบเห็นด้วยสายตา และได้รับการร้องเรียนน้อยลงมาก แต่ยังไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ว่า จำนวนเท่าไร


น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่ กทม.ที่ยังคงเห็นตัวเหี้ยคงที่คือ

บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชาชากร ทำเนียบ รัฐสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสวนสุนันทา เพราะบริเวณดังกล่าวมีท่อระบายน้ำเชื่อมต่อกันหมด ถนนหลายแห่งทรุดตัว ทำให้เกิดเป็นโพลงใต้ดิน เป็นแหล่งอาศัยของตัวเหี้ยนับร้อยตัว ถือเป็นแหล่งที่มีเหี้ยมากที่สุดใน กทม

'พื้นที่อื่นๆ ที่วิเคราะห์ว่าจำนวนตัวเหี้ยมีน้อยลงนั้น เป็นเพราะอุบัติเหตุเวลาข้ามถนนถูกรถทับตายไปจำนวนมาก ตัวที่ถูกทับส่วนใหญ่เป็นวัยเจริญพันธุ์ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะอพยพหนีไปอยู่ในพื้นที่อื่นที่ไม่มีมลพิษ เช่นจังหวัดใกล้เคียง อย่างปทุมธานี สมุทรปราการ แต่เป็นบริเวณที่อยู่ไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม' น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว




น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า สำหรับปริมาณตัวเหี้ยในพื้นที่อื่นนั้นพบว่า ทางภาคเหนือเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

เพราะป่าริมน้ำเพิ่มขึ้น และมลพิษน้อยกว่าในกทม.มาก รวมทั้งมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนพื้นที่อื่นก็พบ อาทิ จ.สุพรรณบุรี อยุธยา ปทุมธานี ก็มีการขยายพันธุ์ของตัวเหี้ยเพิ่มขึ้น แต่ตัวเต็มวัยมักจะขึ้นจากน้ำและข้ามถนนจนโดนรถทับตายไปจำนวนมากเช่นเดียวกัน


ด้านนายธัญญา จั่นอาจ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า

เหี้ยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นไปได้ที่ปริมาณตัวเหี้ยในกทม.ลดลง ในบางพื้นที่ แต่ภาพรวมแล้วยังมีปริมาณมากอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกาะลอยในสวนสัตว์ดุสิต มีจำนวนค่อนข้างมาก แต่ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขแน่ชัดได้


'สาเหตุที่ปริมาณมากขึ้น เพราะสัตว์พวกนี้ไม่ค่อยมีศัตรู และมีอาหารเพิ่มมากขึ้น แถวรังสิตที่ตั้งของอพวช.นั้นเห็นได้ทุกวัน แต่ก็เห็นมันถูกรถทับตายทุกวันเหมือนกัน จากการติดตามข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ พบว่า พื้นที่ที่มีเหี้ยหนาแน่น คือกทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร พื้นที่ชายทะเล โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลน ผมเคยได้รับแจ้งว่า มีตัวเหี้ยหลายตัวพยายามว่ายน้ำจากปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ไปกินลูกเต่าที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ที่เกาะมันใน แต่ในบางพื้นที่เหี้ยก็สามารถอยู่รวมกับคนได้ เช่น ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ จะมีเหี้ยตัวหนึ่ง คลานเข้ามากินเศษอาหารทุกครั้งที่พระล้างบาตร' นายธัญญา กล่าว


ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลานจาก อพวช. กล่าวต่อว่า

ขณะนี้กำลังพิสูจน์กันว่า เหี้ยเป็นสัตว์ที่มีพิษในตัวเองหรือไม่ เพราะแต่เดิมเชื่อกันว่าทั้งตัวเหี้ย และตะกวดเป็นสัตว์ที่กินอาหารเน่าเสีย ทำให้น้ำลายมีปริมาณแบคทีเรียค่อนข้างมาก หากไปกัดใครเข้าจะทำให้แผลติดเชื้ออักเสบรุนแรง แต่อีกสมมุติฐานหนึ่งคือ สามารถสร้างพิษที่บริเวณต่อมน้ำลายมันเองได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่สัตว์พวกนี้จะทำร้ายคนมีน้อยมาก


'คำว่าเหี้ย นั้นเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาไทย ไม่ใช่คำไม่สุภาพที่หลายคนคิดกัน เพราะหลักฐานจดหมายเหตุ ไตรภูมิพระร่วงบันทึกเอาไว้ชัดเจนว่า พระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปลังกา และผ่านตำบลๆ หนึ่ง ชื่อตำบลบางเหี้ย แต่ต่อมาคนเอาคำๆ นี้มาเป็นภาษาด่าหรือหยอกล้อกันจนคิดกันไปเองว่าไม่สุภาพ อย่างไรก็ตาม คำๆ นี้ เป็นชื่อราชการ ที่ประกาศในกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยสัตว์ป่าคุ้มครอง' นายธัญญา กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์