แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2551

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐถือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น


เศรษฐกิจโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อสหรัฐที่กำลังกัดกร่อนตลาดเงินอยู่ในเวลานี้ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ในปี 2551 แม้ว่าจะเติบโตไปอย่างช้า ๆ พร้อม ๆ กับความหวาดกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ลดน้อยลง แต่ดูเหมือนว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีใหม่นี้จะไม่ถูกขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจในสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรปตะวันตกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เครื่องจักรสำคัญที่จะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะย้ายไปอยู่ที่จีน อินเดียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ แทน

ในรายงานเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.2 ในปี 2550 และขยายตัวพอประมาณที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2551 เมื่อเทียบกับร้อยละ 5.4 ของปี 2549 การคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2551 ปรับลดลงเกือบร้อยละ 0.5 สะท้อนให้เห็นสภาพความปั่นป่วนในตลาดการเงิน

มีความวิตกกังวลว่า ความโกลาหลในตลาดการเงินอาจดำดิ่งลงกว่าเดิม และจุดชนวนให้เกิดภาวะชะลอตัวไปทั่วโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ความกดดันของภาวะเงินเฟ้อ ตลาดน้ำมันที่เปราะบาง และการหลั่งไหลของเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ ก็เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลกด้วย

ไอเอ็มเอฟ แถลงว่า ความปั่นป่วนในตลาดเงินที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ และการเพิ่มขึ้นครั้งใหม่ของราคาน้ำมัน ทำให้การคาดการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจ ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่มีการตรวจสอบข้อมูลครั้งใหม่ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นายจอห์น ลิปสกี้ รองผู้อำนวยการคนที่หนึ่งของไอเอ็มเอฟ ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ของไอเอ็มเอฟ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า เฉพาะภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐถือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น

ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ตลาดน้ำมันโลกยังตึงตัวอย่างมาก และขีดความสามารถยังอยู่ในขอบเขตจำกัด, มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมัน หรือความวิตกกังวลเกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองที่อยู่ในระดับที่สูง อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มตามไปด้วย

เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 6 ปี


อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องให้ได้หายใจอยู่บ้าง โดยนายซิมอน จอห์นสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ข่าวดีก็คือว่าประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ผ่านพ้นมรสุมทางการเงินไปเมื่อไม่นานมานี้ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2551 ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จีนและอินเดียกลายเป็นประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว โดยประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 9.2 ในปี 2550 และร้อยละ 8.3 ในปี 2551

ส่วนแอฟริกา จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ ในขณะที่ตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่ง คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.9 ทั้งในปี 2550 และ 2551

ไอเอ็มเอฟได้เพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับเศรษฐกิจจีนที่ร้อนแรงในปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 11.5 จากร้อยละ 11.2 และระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจะมีประสิทธิ ภาพมาก หากผ่อนคลายการควบคุมค่าเงินได้ อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายค่าเงินอาจจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าทางการจีนจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด และปล่อยให้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนเพิ่มเร็วขึ้น

สำหรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรม 30 ประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ซึ่งรวมทั้งสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส โออีซีดี ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คาดการณ์ในช่วงต้นเดือนธ.ค.ว่า จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2551 จากร้อยละ 2.7 ในปี 2550

เจอร์เกน เอลเมสคอฟ รักษาการประธานโออีซีดี กล่าวว่า แม้ว่าอัตราการเติบโตในระยะสั้นถูกปรับลดลงในทุกประเทศของโออีซีดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่เห็น โออีซีดีระบุว่า ผลประกอบการของบริษัทเอกชน,อัตราการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้และการบริโภค และการค้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน จากความปั่นป่วนทางการเงิน, ภาวะชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโออีซีดีมีขึ้นในขณะที่สหรัฐ ชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในปี 2550 และ 2551 สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการดิ่งลงอย่างเลวร้ายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในรอบมากกว่า 20 ปี และได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มด้วย หากการคาดการณ์ของไอเอ็ม เอฟในปี 2550 ถูกต้อง เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 6 ปี

จัดให้ราคาพลังงานเป็นความเสี่ยงใหญ่สุด


นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การทรุดลงของตลาดบ้านจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงถึงร้อยละ 1 ในปี 2550 หรือ 1 ใน 3 ของอัตราการคาดการณ์ประจำปี ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3 แม้ว่าความเสี่ยงที่จะเห็นภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นไปในระดับต่ำเป็นเวลายาวนาน

สมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติ (เอ็นเอบีอี) ของสหรัฐ รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ 50 คนในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.6 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว แต่การขยายตัวตลอดปีจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.3 ผลจากการเติบโตแข็งแกร่งเมื่อไตรมาสแรกแต่ไม่ถึงขั้นภาวะถดถอย พร้อมระบุ ราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่สุด รองลงมาได้แก่อัตราดอกเบี้ย

ผลสำรวจพบว่า ต้นทุนพลังงานระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่สุดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46 จัดให้ราคาพลังงานเป็นความเสี่ยงใหญ่สุด ส่วนร้อยละ 22 อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่สุดสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ และอีกร้อยละ 20 วิตกเกี่ยวกับการปรับตัวลงของราคาบ้านมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐกังวลกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ แต่ก็คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะไม่ยุติลงในเร็ว ๆ นี้ และเชื่อว่ามีโอกาสเพียงร้อยละ 10 ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยุติลงในปี 2550 และมีโอกาสประมาณร้อยละ 25 ที่จะเกิดภาวะถดถอยในปี 2551 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม

นักเศรษฐศาสตร์ลงความเห็นว่า ตลาดที่อยู่อาศัยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา การชะลอตัวลงของตลาดดังกล่าว ประกอบกับผลพวงจากตลาดแรงงานขยายตัวต่ำกว่าคาด จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2550 ถึงครึ่งปี 2551 และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2550 และร้อยละ 2.75 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แต่อาจกลับมาแตะระดับร้อยละ 3.0 อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2551

เศรษฐกิจในแอฟริกาหลายประเทศ ธนาคารโลกแถลงว่า จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว


ปีเตอร์ โมริซี ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจ และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ กล่าวว่า อัตราการเติบโตของตลาดแรงงานที่ลดลง พร้อมกับการขาดสินเชื่อด้านธุรกิจ แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยลดลง และการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในเศรษฐกิจสหรัฐมีอยู่เกินร้อยละ 50

ส่วนในการคาดการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ

เศรษฐกิจตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนไปแตะทำสถิติสูงสุดที่ 99.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.9 ทั้งในปี 2550 และ 2551 โดยอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วจะอยู่ที่อิหร่านและอียิปต์

ขณะที่เศรษฐกิจในแอฟริกาหลายประเทศ ธนาคารโลกแถลงว่า จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง โดยจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งมีความจำเป็นในการแก้ปัญหาความยากจนในภูมิภาคนี้ ส่วนอัตราการเติบโตในแถบซับสะฮาราของแอฟริกา คาดว่าจะเพิ่มจากร้อยละ 5.7 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 6.1 ในปี 2550 และขยายตัวเป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2551 การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ สะท้อนจากการสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่อย่างคึกคักในประเทศที่ส่งออกน้ำมัน เช่นอังโกลาและไนจีเรีย

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2551


ในรัสเซีย นักเศรษฐศาสตร์โออีซีดี กล่าวว่า อัตราการเติบโตจีดีพีของรัสเซีย เติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ก่อนที่จะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2551 เพราะราคาน้ำมันและโลหะมีเสถียรภาพในระดับปัจจุบัน

ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2551 เพราะเศรษฐกิจของชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย จะถูกกระหน่ำจากหลายปัญหา เช่นจากภาวะเงินเฟ้อในจีน ไปจนถึงค่าเงินในอินเดียและญี่ปุ่น การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเอเชีย จะหดตัว และราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นเงาดำปกคลุมเศรษฐกิจเอเชียด้วย สำหรับในประเทศจีนนั้น ยังมีความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องว่า เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป จะทำภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงถึงร้อยละ 6.5 ในปีนี้ ในขณะที่ ราคาอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้น พุ่งสูงตามไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบาย โดยทางเลือกของพวกเขามีขอบเขตจำกัดจากการควบคุมสกุลเงินและตลาดทุน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังคงมีความไม่แน่นอน จีนก็มองข้ามไปถึงปี 2551 แล้วว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลักต่อไป โดยทั้งธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ต่างก็คาดการณ์ว่า จีดีพี ของจีนในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 10.8 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11

ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลงมาอยู่ที่ 90 เยน จากระดับ 110 เยนในปัจจุบัน


ในอินเดีย การลงทุนจากต่างประเทศที่พุ่งขึ้นทำสถิติ ส่งผลให้ค่าเงินรูปีแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลต่อผลประกอบการของอุตสาหกรรม ธนาคารกลางของอินเดียคุมเข้มนโยบายทางการเงิน และควบคุมภาวะเงินเฟ้อในช่วงต้นปี 2550 แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะการลงทุนใหม่ ๆ และยอดขายในสินค้าหลายรายการ เช่นรถยนต์ลดลงในระดับที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 9 ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และจะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 8 และร้อยละ 8.5 ในปี 2551

ในญี่ปุ่น ชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชีย มีปัญหาความวิตกกังวลสำคัญคือการชะลอตัวของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งกัดกร่อนรายได้จากต่างประเทศของบริษัทผู้ส่งออกของประเทศ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตที่ร้อยละ 1.7 ในปี 2551 ลดลงจากร้อยละ 2.0 ที่คาดการณ์ไว้ในปี 2550 มาซากิ คันโน นักเศรษฐศาสตร์ของเจ.พี.มอร์แกน ซิเคียวริตี้ กล่าวว่า ญี่ปุ่น ซึ่งพึ่งพาสินค้าส่งออก พึ่งพาเศรษฐกิจของสหรัฐด้วย หากสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย และค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลงมาอยู่ที่ 90 เยน จากระดับ 110 เยนในปัจจุบัน ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทันที

ส่วนสหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นใน 13 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร นายฌอง-คลอด ทริเชท ประธานอีซีบี กล่าวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากสภาบริหารอีซีบี ตัดสินใจที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4 เหมือนเดิม ว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศในเขตยูโรโซนยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในตลาดการเงินยังคงมีอยู่ ประจวบกับความไม่แน่นอนจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงยังมีอยู่ นายทริเชทอ้างว่า ตลาดการเงินส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหรัฐกระทบค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งร่วงลงในระดับต่ำสุดครั้งใหม่เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และการค้าก็ต่ำลงในรอบ 26 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ

ท่ามกลางอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน


อีซีบีคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีในประเทศยูโรโซน อยู่ระหว่างร้อยละ 2.4-2.8 ในปี 2550 และระหว่างร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2551 ท่ามกลางอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

สำหรับลาตินอเมริกา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคนี้ ดูเหมือนว่าจะดิ่งลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 แต่ระดับหนี้ที่ลดลงและการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น จะทำให้ลาตินอเมริกา แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับในอดีต นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า จีดีพีของลาตินอเมริกา อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.9 ในปี 2551 ลดลงจากร้อยละ 5.3 ในปี 2550 ตามการคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เศรษฐกิจลาตินอเมริกาจะอ่อนแอไปตามเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้การค้า การท่องเที่ยวและเงินที่ชาวลาตินอเมริกาที่ได้จากการทำงานในสหรัฐ ส่งกลับประเทศหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี ลดลง

อย่างไรก็ตาม บราซิล ชาติที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ การลงทุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว สินค้าส่งออกยังแข็งแกร่งและภาวะเงินเฟ้อ ยังอยู่ในระดับต่ำ จีดีพีโตที่ประมาณร้อยละ 4.8 ในปี 2550 และร้อยละ 4.5 ในปี 2551.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์