โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ภัยเงียบของคนเมือง

เพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนเราทุกวันนี้ช่างเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคร้ายๆตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดแข็งตัว ที่ส่งผลต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลันรวมถึง อัมพฤกษ์อัมพาตในงานเสวนา “ความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ จึงมีสาระความรู้ดีๆจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาบอกกล่าว เพื่อให้ทุกคนห่างไกลจากโรคร้ายที่สามารถคร่าชีวิตเราได้อย่างง่ายดาย


ก่อนอื่นต้องปูพื้นความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดแดงแข็งกันก่อน

รศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกว่าปัจจุบันคนไทย มีแนวโน้มไขมันในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติมากขึ้น ซึ่งเกณฑ์ปกติไม่ควรมีไขมันในเลือด (รวมคอเลสเตอรอล) เกิน 200 มิลลิกรัม/dl และไขมัน ตัวร้ายหรือแอลดีแอล คอเลสเตอรอล ไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/dl ซึ่งสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ที่เปลี่ยนไปตามภาวะสังคมที่มีความเร่งรีบ หันมานิยมอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารหวานๆมันๆ อีกทั้งนิยมงานเลี้ยงสังสรรค์ และขาดการออกกำลังกาย การมีปริมาณไขมันในเลือดสูง หากไม่รีบลดระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ให้ได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตามมา

โดยเกิดจากความเสื่อม ของผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกายของคนเรา

เมื่อปล่อยไปนานๆจะเกิดการสะสม ของตะกรันขึ้นที่หลอดเลือดแดง หากมีปริมาณไขมันในเลือดสูงก็จะทำให้เกิดการสะสม ของตะกรันหนาเร็วขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเกิดการปริหรือกะเทาะของตะกรันเหล่านี้ และกระตุ้นให้เกิดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันผนังหลอดเลือด ซึ่งหากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนั้น ไปอุดตันผนังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และหากลิ่มเลือดนั้นไปอุดตันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองก็จะทำให้เกิดภาวะ อัมพฤกษ์อัมพาต


ด้าน รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าห้องสวนหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะโรคหลอดเลือดแข็งตัว ได้แก่ คนที่มีอายุ มากกว่า 45 ปี เป็นเพศชาย มีความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่หรือเครียด แต่สาเหตุหลักได้แก่ กลุ่มคนที่มีคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) สูง ดังนั้นการลดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากโรค หลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงอัมพฤกษ์อัมพาตได้

วิธีง่ายๆคือ การควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และควบคุมพฤติกรรมการกิน

เช่น หลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีไขมันสูง หวานจัด มีรสเค็ม และเน้นทานอาหารที่มีเส้นใย งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่าง สม่ำเสมอ บางรายอาจจำเป็นต้องกินยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วย เพื่อให้การลดแอลดีแอล คอเลสเตอรอล ได้ผลตามเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันมียาใหม่ในกลุ่มสแตติน นอกจากช่วยลดระดับไขมันตัวร้ายในเลือดแล้ว ยังช่วยลดตะกรันที่เกิดขึ้นในผนังหลอดเลือดอีกด้วย.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์