อึ้งเด็กท่องเน็ต1ใน6มีเซ็กส์กับคนแปลกหน้า

เผยเด็กท่องเน็ต 1 ใน 6 เคยมีเซ็กส์กับคนแปลกหน้าที่รู้จักทางออนไลน์

 ชาย 20.8% หญิง 12.2% เคยประกาศหาคู่ทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่เด็กไทยต่ำกว่า 15 ปี กว่า 1 ล้านคน นิยมใส่ที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์ในเว็บไซต์ มิจฉาชีพฉวยช่องลวงฆ่า ข่มขืน ลักพาตัว รุกใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กห้ามโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลเด็ก


การเพิ่มขึ้นของปัญหาเด็กถูกล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยเร่งด่วน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ผู้ร้ายล่อลวงเด็ก : ภัยจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนโลกออนไลน์"

 ทั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายถึงมาตรการคุ้มครองข้อมูลเด็กบนโลกออนไลน์ ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรที่หาประโยชน์ทางอินเทอร์เน็ต โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ประกอบการด้านเว็บไซต์ หน่วยราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 50 คน



นพ.พลเดช กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเป็นเด็กและเยาวชน

และนิยมใช้บริการเว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็นชุมชน เช่น เว็บไซต์หาเพื่อน โพสต์ภาพ สนทนาบนเว็บบอร์ด ซึ่งการใช้บริการเว็บไซต์ลักษณะดังกล่าว ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เพื่อสมัครใช้บริการ และเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการ ขณะที่ผู้ให้บริการเว็บไซต์สามารถนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กมาเปิดเผยจนนำไปสู่ปัญหาร้ายแรง โดยเฉพาะมิจฉาชีพใช้ข้อมูลที่เด็กเปิดเผยเข้าถึงตัวเด็กเพื่อล่อลวง และนำไปสู่การลักพาตัว ชิงทรัพย์ ข่มขู่ ข่มขืน หรือฆาตกรรม


 จากการสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า เด็กกว่า 80% ที่เล่นอินเทอร์เน็ตเคยสนทนาออนไลน์กับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน

โดยส่วนใหญ่เริ่มจากการที่คู่สนทนาเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเด็ก เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ และ 70% นำไปสู่การพบปะกัน ที่น่าห่วงคือ เด็กหนึ่งในหกคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตเคยมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่รู้จักทางออนไลน์ ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ


 น.ส.ชฎามาศ ธุระเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค กล่าวว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กว่า 1 ล้านคน นิยมโพสต์ภาพ และสนทนากับคนแปลกหน้าผ่านอินเทอร์เน็ต และ 31% เคยนัดเจอกับคนแปลกหน้าที่แชทกันในอินเทอร์เน็ต โดยเว็บไซต์ที่เด็กนิยมเข้าไปสนทนามากที่สุด คือ เว็บยูทูบ ไฮไฟ เอ็มเอสเอ็น มายสเปซ และเฟสบุ๊ค เป็นต้น ซึ่งเด็กจะต้องกรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ทำให้มิจฉาชีพสามารถค้นหาและเลือกเด็กผู้หญิงจากอายุหน้าตาตามที่ต้องการได้ โดยคณะอนุกรรมการจะนำ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2546 มาตรา 27 ระบุห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสารสนเทศประเภทใด ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลเด็ก โดยเจตนาที่ทำเพื่อให้เกิดความเสียหาย มาเป็นเครื่องมือช่วยคุ้มครองเด็ก ซึ่งเชื่อว่าจะได้ผลอย่างมาก


 นายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า

ประเทศไทยแม้จะมีบางเว็บไซต์ที่เริ่มห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แต่ยังมีบางเว็บที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ เพราะมองว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถขายได้ เด็กจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ และพบว่า ในการค้นหาข้อมูลทางเว็บไซต์ คำที่นิยมใช้มากที่สุดคือ “หาเพื่อน” “หาคู่” และตามด้วยจำนวนอายุที่ยังน้อยๆ ทำให้นำมาสู่การล่อลวงเด็กได้ง่าย ดังนั้น ผู้ประกอบการเว็บไซต์จึงควรให้ความร่วมมือด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์


 ขณะที่ นายนพดล กรรณิการ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ดำเนินการสำรวจ “พฤติกรรมและผลกระทบของการใช้อินเทอร์เน็ตจากกลุ่มเยาวชน : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปอายุ 15-24 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร” ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2550 พบว่า เด็กและเยาวชนถึง 65.4% เคยใช้บริการออนไลน์หรือเว็บไซต์ที่ต้องสมัครสมาชิกและกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ เพศ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ และ 33.6% ของจำนวนที่กรอกข้อมูลในเว็บไซต์เคยถูกบุคคลที่ไม่รู้จักติดต่อเข้าถึงตัว ผ่านทางโทรศัพท์และอีเมล ซึ่งมีทั้งการพูดคุยธรรมดา ชักชวนออกไปพบกัน และใช้คำพูดลวนลามเรื่องเพศ

 โดยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น เมื่อมีบุคคลที่ไม่รู้จักติดต่อเข้าถึงตัว พบว่า ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ 30.4% ถูกลวนลาม 21.4% และถูกข่มขืน หรือทำร้ายร่างกาย 8.9% ทั้งนี้ความเห็นของเยาวชนต่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทางเว็บไซต์ 44.5% เห็นว่าไม่ควรเปิดเผยเลย และ 25.9% เห็นว่าทำได้ แต่ควรเปิดเผยเฉพาะข้อมูลบางส่วน ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการสนทนาออนไลน์ พบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่ 83.8% เคยพูดคุยผ่านทางโปรแกรมสนทนา และ 80.4% เคยพูดคุยกับคนแปลกหน้า

 นอกจากนี้ ในกลุ่มวัยรุ่นชาย 38.8% เคยนัดพบคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นหญิง 22.4% เคยนัดพบคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต และพบว่าในกลุ่มวัยรุ่นชาย 26.6% เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต กลุ่มวัยรุ่นหญิง 8.2% เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต และ 59.4% ของวัยรุ่นหญิง ไม่เต็มใจต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ต และวัยรุ่นชาย 20.8% กลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง 12.2% เคยประกาศหาคู่ทางอินเทอร์เน็ต โดยเยาวชนส่วนใหญ่ 60.1% เห็นว่าแนวโน้มความรุนแรงของอาชญากรรมทางโลกออนไลน์ในอนาคตเพิ่มขึ้น


 นายนพดล กล่าวอีกว่า เด็กส่วนใหญ่มีจุดประสงค์ของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลความรู้ 88.2%

เล่นเกมออนไลน์ 68.1% ดาวน์โหลดเพลง/ภาพยนตร์ 65.1% และใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ 57.9% ระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน 13.6% ระหว่าง 1-2 ชั่วโมง 23.9% ระหว่าง 2-3 ชั่วโมง 20.3% ระหว่าง 3-4 ชั่วโมง 12.6% ระหว่าง 4-5 ชั่วโมง 12% และ 5 ชั่วโมงขึ้นไป จากการจัดอันดับเว็บไซต์ที่เด็กเข้าชมบ่อยที่สุด 5 ลำดับแรก คือ 1.กูเกิล 30.8% 2.สนุกดอทคอม 11.3% 3.ฮอทเมลดอทคอม 9.9% 4.กระปุกดอทคอม 5.9% และ 5.ไฮไฟ 3.9%


 ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อลามกอันตรายบนอินเทอร์เน็ต

เด็กและเยาวชนจำนวน 53.2% เคยดูสื่อลามกทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่ 46.8% ไม่เคยดูสื่อลามก นอกจากนี้ยังพบว่า 63.7% ของผู้ที่เคยดูสื่อลามกในอินเทอร์เน็ตเคยใช้บริการดาวน์โหลดภาพ/วิดีโอโป๊ ถึง 63.7% เล่นเกมผ่านเว็บโป๊ 15.7% และใช้บริการขอรับภาพ/วิดีโอผ่านอีเมล 13.9% โดยส่วนใหญ่เห็นว่าภาพโป๊/วิดีโอโป๊เปลือยทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางเพศ เช่น ข่มขืน อนาจาร 81.4% ทำให้วัยรุ่นหมกมุ่นเรื่องเซ็กส์ 77.4% และทำให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเกิดการเลียนแบบ 76.5%

 นายนพดล กล่าวอีกด้วยว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ พบว่า 64.2% เคยเล่นเกมออนไลน์ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และ 35.8% ไม่เคยเล่น สำหรับเนื้อหาสาระของเกมออนไลน์ที่ชอบเล่น 10 ลำดับแรกคือ 1.เกมต่อสู้ เช่น ยิงปืน ฟัน เตะ ต่อย 60.9% 2.เกมแฟนตาซี 36.8% 3.เกมยิงตำรวจ 35.4% 4.เกมแข่งขันกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส 28.8% 5.เกมเปลื้องผ้า 15.2% 6.เกมสะสมของ 13.1% 7.เกมลับสมอง 12.9% 8.เกมฝึกทักษะ เช่น ภาษา พิมพ์ดีด 10.3% 9.เกมดักฉุดหญิงสาว 4.5% และ 10.อื่นๆ 2.5%


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์