เด็กเล่นแช็ตไลน์ร้อยละ10เสียตัวก่อนอายุ15 วัยรุ่นฮิตแฟชั่นนุ่งผ้าน้อยชิ้นโพสต์ลงเน็ต

สสส.เผยมิจฉาชีพใช้ระบบแช็ตไลน์เป็นช่องทางซื้อหาและขายบริการทางเพศ พบเด็กอายุไม่เกิน15ปีถูกล่อลวง-มีวัยรุ่นไทยเอารูปวับๆแวมๆของตัวเองขึ้นโชว์บนเว็บไซต์-เผยวิธีแก้เด็กติดเกมส์

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สสส.ร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงาจัดงานเสวนา 'เด็กเล่นไลน์ ภัยร้ายจากสายโทรศัพท์' โดยนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการเปิดบริการระบบแช็ตไลน์ทางโทรศัพท์ระบบพื้นฐาน 02 ที่มีการนำไปใช้เป็นช่องทางซื้อหาและขายบริการทางเพศ ล่อลวงเด็ก ซื้อขายยาเสพติด อาชญากรรม เริ่มมีผู้ให้บริการรายย่อยลักลอบนำสายโทรศัพท์บ้านมาต่อพ่วงกับอุปกรณ์เสริมลักษณะคล้ายตู้สาขาโทรศัพท์ แล้วแอบเปิดให้บริการแช็ตไลน์เพิ่มมากขึ้น

'จากข้อมูลของศูนย์คนหายที่ได้รับแจ้งจากพ่อแม่ผู้ปกครองประมาณ 500 คน มีร้อยละ 70 ที่สามารถหาเจอ ซึ่งในจำนวนนี้หลังจากได้สัมภาษณ์พบว่ามีเด็กหญิงไม่น้อยกว่า 5 คน อายุเฉลี่ยไม่เกิน 15 ปี หรือประมาณร้อยละ 10 ออกจากบ้าน ทั้งที่ถูกล่อลวงแบบเต็มใจและไม่เต็มใจ' นายเอกลักษณ์กล่าว

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้จัดการแผนงานไอซีที สสส. กล่าวว่า

นอกจากการแช็ตไลน์ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 แล้ว ขณะนี้มีเว็บผองเพื่อน (social networking sites) ที่ให้บริการออนไลน์ สร้างเว็บส่วนตัว ให้ผู้ใช้ใส่รูป ใส่คลิปวิดีโอ ข้อมูลส่วนตัว ความสนใจทุกอย่างของตัวเองลงไป แล้วชวนเพื่อนเข้ามาดู จากนั้นก็จะดูกันต่อเนื่องแบบลูกโซ่ คนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย ก็ได้เข้ารู้จักกัน และรู้เรื่องราวชีวิตทุกอย่างผ่านเว็บไซต์นี้ สิ่งที่เป็นอันตรายคือ พวกมิจฉาชีพรู้ข้อมูลส่วนตัว และค่อยๆ เรียนรู้พฤติกรรมของเหยื่อจนหลอกว่าเป็นเพื่อนจนตายใจ แล้วจึงนัดออกไปกระทำชำเรา และเริ่มมีแฟชั่นที่วัยรุ่นไทยเอารูปวับๆ แวมๆ ของตัวเองขึ้นโชว์บนเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งน่าเป็นห่วงแฟชั่นแบบผิดๆ นี้


เด็กติดเกมส์ออนไลน์ปัญหาหนักอกพ่อแม่

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ 'เข้าถึง เข้าใจเด็กไทยยุคไซเบอร์' ในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2550 ภายใต้ชื่องาน  'มหกรรมสื่อสร้างสุข'  ที่กรมสุขภาพจิตจัดขึ้น โดยมีนพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นางวราภรณ์ หงษ์ดิลกกุล อาจารย์แนะแนว ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภช บางขุนเทียน นางจินตนา เจริญศุข คุณแม่ที่มีลูกติดเกม และ น.ส ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา ศิลปินวัยรุ่น ค่ายอาร์เอส โปรโมชั่น มานั่งในพูดคุยผ่าน 4 มุมมองความคิด  สะท้อนปัญหาเรื่องเด็กติดเกมส์ที่นับวันจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินจะเยียวยาไปแล้ว ซึ่งมีเด็กนักเรียนครูและผู้ปกครองที่สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายเป็นจำนวนมาก

นพ.บัณฑิตกล่าวว่า ได้ทำการประเมินผลวิจัยการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเด็กที่ชอบเล่นเกมส์ ด้วยการให้ทำแบบทดสอบเพื่อตอบคำถามจำนวนครั้งและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างเล่นเกมส์


โดยผลวิจัยจากการให้เด็กร่วมกันทำแบบทดสอบพบว่า เวลาเฉลี่ยของผู้ที่คลั่งไคล้การเล่นเกมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชม. ส่วนผู้ที่เข้าข่ายติดเกมส์ใช้เวลา 3 ชม.ขึ้นไป  ทั้งนี้สถาบันได้จัดการอบรมเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายและความเข้าใจแก่เด็กและผู้ปกครองในการช่วยเหลือและบำบัดอาการติดเกมส์ไปหลายรุ่นแล้ว ซึ่งผลตอบรับก็สามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้มาก

เผยวิธีแก้เด็กติดเกมส์

สิ่งที่สำคัญมากที่สุด นพ.บัณฑิตกล่าวว่า  ต้องช่วยปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กรู้จักสร้างความหมายกับตนเอง และค้นหาเป้าหมายในชีวิตให้ได้ว่า พวกเขาต้องการอะไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กไม่ต้องหมกมุ่นกับโลกแห่งจินตนาการมากเกินไป และหาเวลาไปทำสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์มากกว่า ส่วนน.ส.ณพอาภา กล่าวเสริมในฐานะที่เป็นตัวแทนของเด็กวัยรุ่นว่า อยากให้การเล่นเกมส์เป็นเพียงแค่กิจกรรมทางด้านความบันเทิงที่ช่วยผ่อนคลายให้กับเด็กๆ ได้ยามเวลาว่างเท่านั้น แต่ก็อยากให้รุ้จักแบ่งเวลา เพื่อที่จะช่วยให้ชีวิตเป็นระบบและมีความสุขสดใสไปตามวัยที่ควรจะเป็นได้

อย่างไรก็ตาม จาก 4 มุมมอง ของวิทยากรทั้ง 4 คน ระบุเช่นเดียวกันว่า ปัญหาทางพฤติกรรมและสัมพันธภาพของเด็กที่ติดเกมส์ เป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด

โดยเน้นให้ครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หันมาให้ความเอาใจใส่ต่อเด็กให้มากขึ้น ทั้งนี้ อาจารย์วรากรณ์ ระบุว่า ครอบครัวควรหาเวลามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน  และต้องเรียนรู้ความเป็นไปเทคโนโลยีให้เท่าทันเด็กๆ เพื่อที่จะได้ชี้แนะได้อย่างถูกต้อง ไม่ควรดุด่าว่ากล่าว แต่ให้พูดให้เด็กตระหนักถึงข้อดี ข้อเสียของการเล่นเกมส์ด้วยตัวของเขาเอง  และควรที่จะชื่นชม  ให้ความรัก และพยายามทำความเข้าใจต่อเด็กด้วย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์