น้ำแข็งโลกละลายสัญญาณเตือนภัยพิบัติ

น้ำแข็งโลกละลายสัญญาณเตือนภัยพิบัติ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 เมษายน 2549 09:40 น.

ในวันที่ 22 เมษายนของทุกปี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Program : UNEP) ประกาศให้ ถือเป็น วันคุ้มครองโลก (Earth Day)

วันนี้ เป็นวันที่เราจะมีโอกาสรำลึกถึงสิ่งแวดล้อม และใคร่ครวญว่าเราจะต้องทำอะไรอีกบ้างเพื่อปกป้องของขวัญที่ธรรมชาติมอบแก่โลกของเราใบนี้ และสิ่งที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หรือนักอนุรักษ์เป็นห่วง ในขณะนี้ คือ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate change) หรือภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำแข็งของโลกละลายนั่นเอง

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา อาณาจักรแห่งน้ำแข็งทั้งบริเวณขั้วโลก ธารน้ำแข็ง หรือแม้น้ำแข็งในทะเล กำลังแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและค่อยๆ ละลายอย่างผิดปกติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่ธรรมดานี้ ถือเป็น สัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า ที่โลกกำลังออกอาการฟ้องว่ากำลังย่ำแย่ และมนุษยโลกถึงคราวที่จะต้องระวังตัวกันไว้ให้ดี

คำถามสำคัญที่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนคงอยากรู้ หากน้ำแข็งของโลกละลายจะส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์ตาดำๆ อย่างเราๆ บ้าง?

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Souteast Asia START Regional Centre) อธิบายถึง สถานการณ์น้ำแข็งของโลก ไว้ว่า น้ำแข็งมีความสำคัญกับระบบนิเวศวิทยาอย่างมากโดยทำหน้าที่คล้าย ป่า โดยเฉพาะในเขตหนาว น้ำแข็ง เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรน้ำ เสมือนฟองน้ำที่คอยโอบอุ้มน้ำ ชะลอการไหลบ่าของกระแสน้ำ เมื่อถึงหน้าร้อนก็ละลายเป็นน้ำหล่อเลี้ยงแม่น้ำสายต่างๆ

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ น้ำแข็งของโลกประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ น้ำแข็งขั้วโลก น้ำแข็งบนยอดเขา และน้ำแข็งในทะเล ทั้ง 3 ส่วน เกิดปรากฎการณ์น้ำแข็งละลายมากผิดปกติ โดยน้ำแข็งมีการแตกตัวเป็นก้อนเล็กๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนก้อนเล็กๆ ที่มีอยู่เดิมก็หายไป ขณะที่น้ำแข็งบนยอดเขาก็ละลายเพิ่มมากขึ้น โดยสังเกตได้ชัดจากการเก็บภาพถ่ายมาเปรียบเทียบ และน้ำแข็งในทะเลก็บางลงและเกิดน้ำแข็งน้อยลงด้วย

ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ระดับน้ำทะเลจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนแก่พื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วโลก อุณหภูมิของกระแสน้ำในมหาสมุทร ความชื้นในอากาศและการไหลเวียนของอากาศโลก เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สมดุลกัน

ตัวอย่างดังที่ภาพยนตร์เรื่อง The Day After Tomorrow จินตนาการเอาไว้ ตามทฤษฎีแล้วสามารถเป็นไปได้ เนื่องจากกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นปะทะกัน ขณะที่น้ำจืดที่ละลายจากธารน้ำแข็งไหลลงสู่มหาสมุทรทำให้กระแสน้ำบริเวณนั้นมีความเค็มน้อยลง มวลของน้ำและความหนาแน่นลดลงด้วย และผลจากอากาศที่อุ่นขึ้นยังทำให้เกิดฝนตกหนักและเพิ่มปริมาณน้ำยิ่งทำให้ความเค็มในน้ำทะเลลดเกิดการบล็อกเส้นทางของกระแสน้ำ ซึ่งจะเห็นว่าสามารถเกิดขึ้นได้แต่ต้องมีอิทธิพลปัจจัยหลายอย่างสนับสนุน

ส่วนในประเทศไทยอาจยังไม่สามารถโยงให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงมาจากการละลายของน้ำแข็งเพียง 10-15% และเมื่อน้ำแข็งจากเทือกเขาไหลลงสู่แม่น้ำโขงก็ยังถูกควบคุมโดยเขื่อนทำให้เห็นสัญญาณไม่ชัดเจน ซึ่งผลกระทบโดยตรงจึงมีไม่มากนัก

สำหรับผลกระทบจากการที่น้ำทะเลสูงขึ้นในรอบ 50 ปี นี้มีประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะดูเป็นตัวเลขที่ไม่น่ากลัว เมื่อรวมกับปัจจัยน้ำขึ้นน้ำลงและอื่นๆ มีผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เมตร อย่างไรก็ดี การที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเพียง 10 เซนติเมตร ก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยา บางขุนเทียน ซึ่งปัจจุบันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะก็สร้างปัญหาอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็เป็นชายฝั่งทะเล ตะวันออก ตลอดจนสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แม้จะไม่กินบริเวณกว้างมากแต่ก็เป็นจุดสำคัญเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ความแปรปรวนของธรรมชาติจะมีมาก อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงและถี่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม น้ำทะเลหนุนสูง และความแห้งแล้ง ซึ่งการที่น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วก็ถือเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเร็วขึ้นด้วย

ในส่วนของการรับมือภัยพิบัติจากธรรมชาตินั้น ดร.อานนท์ มองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ให้ความสนใจอาจเพราะมีเรื่องอื่นที่มีความเร่งด่วนกว่า เราจึงไม่เคยเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เลย ซึ่งอาจเพราะดูเป็นเรื่องไกลตัวด้วย แต่เมื่อทั่วโลกเริ่มหวั่นวิตกมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งตื่นตัวกับเหตุการณ์นี้มาก ทำให้เริ่มมีการพูดคุย ถกเถียงมากขึ้นเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในการประชุมบนเวทีโลกอย่างพิธีสารโตเกียวเองไทยก็ยังไม่มีบทบาทมากมายนัก และประเด็นการพูดคุยยังเป็นการเน้นลดการปลดปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้สร้างปัญหาเรื่องนี้มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาด้วยซ้ำ ดังนั้นไทยจึงควรที่จะมีการเรียกร้องให้ประชาคมโลก สนับสนุนด้านเทคโนโลยีในการปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ดร.อานนท์ บอกอีกว่า ในประเทศไทยแม้แต่การพยากรณ์ระยะกลางเพื่อทำนายการเกิดน้ำท่วมฝนแล้งซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ 3-6 เดือน และข้อมูลเหล่านี้จะสามารถทำให้เกษตรกรเตรียมการล่วงหน้าได้ว่า จะปลูกพืชประเภทใด หว่านเมื่อไหร่ ปลูกได้กี่ครั้ง แต่เราก็ยังเตาะแตะ สู้ประเทศเพื่อนบ้านแม้แต่เวียดนามไม่ได้ ซึ่งหากเราสามารถจัดการจุดนี้ได้สำเร็จก็จะช่วยลดความสูญเสียจากภาคเกษตรได้อย่างมหาศาล

การรับมือ กับการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ วิธีที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เช่น การลดการใช้พลังงาน ปลูกต้นไม้มากๆ ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่ามีความคุ้มทุนในการดำเนินการหรือไม่ เช่น การอัดแก๊สในทะเล เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้จะยุติในทันที โลกยังคงมีการปรับสมดุล เพียงแต่หวังให้ภัยพิบัติไม่รุนแรงมากนักดร.อานนท์ อธิบาย

ด้าน ดร.โอภาส ปัญญา ประธานกรรมการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก ส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกคุมคามและทำลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ประชาชนหลายล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง ยิ่งในประเทศที่ยากจนยิ่งเสี่ยงหนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันป้องกันและหาทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเรา เพราะหากไม่ทำเสียตั้งแต่วันนี้ เราก็จะถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างหายนภัยทางภูมิอากาศกับหายนะภัยทางเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์