อ้วนเตี้ย ดำคำง่ายๆ เติมเชื้ออันธพาลเด็ก

ไอ้อ้วนไอ้เตี้ย ไอ้ดำ ไอ้โย่ง หมูตอน เหยิน ไอ้แว่น หยิก ใครจะคาดว่าคิดว่าคำแสนจะธรรมดาเหล่านี้เป็นชนวนเหตุแห่งความรุนแรง สร้างอันธพาลเด็ก

จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนของผศ.ดร.สมบัติตาปัญญา อ.ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ (มช.) ที่เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจากครู1,300 คนและนร.ชั้นป.4-ม.2 จำนวน3,047 คนในกทม. นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ เดือน ก.พ.- มี.ค.2549 พบว่านร.40 % เคยถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้งเป็นการล้อเลียนให้อับอาย เหยียดหยามดูถูกเชื้อชาติหรือผิวพรรณ เกิดขึ้นห้องเรียนเวลาที่ครูไม่อยู่ เกิดขึ้นมากสุดในชั้นป.4 และลดลงเรื่อยๆตามระดับชั้นที่สูงขึ้น

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคำล้อเลียนในหมู่เด็กเหล่านี้ถูกเพิกเฉยจากครูพ่อแม่ และเพื่อน 

โดยครูประจำชั้น 41.2 % ไม่เคยยุติการกระทำผู้ปกครอง 75.2 % ไม่ติดต่อกับโรงเรียนเพื่อห้ามและนักเรียนคนอื่นไม่สนใจจะห้าม 20.6 % ไม่เพียงเท่านี้การที่ครู 70 % เห็นว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงจำเป็นเนื่องจากหากไม่ลงโทษด้วยความรุนแรงจะกำหราบเด็กไม่ได้ 

รูปแบบมีทั้งการตีก้นอดอาหารและจับขัง เป็นเสมือนตัวเชื้อที่เร่งปฏิกิริยาให้เกิดการตอบสนองในรูปแบบของความรุนแรง 

เพราะไม่ได้รับการอธิบายชี้แนะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้ปัจจุบันมีเด็กไทยตกอยู่ในวังวน ตบ ตี เตะ ตึ้บ ถึงกว่า 7 แสนคนบางคนรุนแรงร้ายแรงถึงขั้นลงหน้า 1 หนังสือพิมพ์อย่างกรณี เด็กนักเรียนหญิงตบตีกันในโรงเรียนแล้วถ่ายคลิปวีดีโอเก็บไว้ เพียงไม่พอใจจากการถูกมองหน้า เป็นต้น 


การที่เด็กถูกคำล้อเลียนเป็นเวลานานแล้วต้องเก็บกดอดทนเอาไว้ 

"อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพอารมณ์ จิตใจ และความคิดทำให้เกิดความวิตกกังวล รู้สึกโดดเดี่ยว สูญเสียความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง เกิดอาการซึมเศร้า มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และหลังจากที่สั่งสมความแค้นไว้นาน จะระเบิดพฤติกรรมออกมา ด้วยการแสดงออกที่ก้างร้าวรุนแรง เช่น ทำร้ายคนอื่นได้" ผศ.ดร.สมบัติกล่าว

ทางออกของปัญหา ผศ.ดร.สมบัติบอกว่าควรรณรงค์ให้ครู ผู้ปกครองและนักเรียนตระหนักถึงปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน 

และกระตุ้นให้นักเรียนบอกผู้ใหญ่ทุกครั้งที่มีการรังแก ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมป้องกันการรังแกในโรงเรียน เพราะเป็นการเตือนผู้กระทำว่าจะถูกลงโทษหรือมีการจับตาเฝ้าระวังอยู่ และเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ถูกรังแกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ ขณะที่นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าวว่าพฤติกรรมล้อเลียนแก้ไขได้โดยเมื่อครู หรือ พ่อแม่พบเห็นการล้อเลียน ต้องสลายกลุ่มให้ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเพื่อนกันจัดหากิจกรรมทำร่วมกันให้ได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างความเป็นเพื่อน สร้างคุณค่าให้คนที่ถูกล้อในสายตาเพื่อน แต่ต้องระวังไม่ทำให้เกิดความอิจฉา จะคลายการล้อเลียนดูถูกลงได้

ส่วนการลงโทษเด็กที่กระทำผิดนพ.บัณฑิต บอกว่ามีความจำเป็นเพราะเป็นวิธีการเติมมโนธรรมให้กับเด็กและเยาวชน  พร้อมกับการสอนควบคู่ว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี 

จะทำให้เด็กสร้างวงจรควบคุมตัวเองว่าถ้าทำไม่ดีจะถูก ลงโทษ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบทารุณกรรมและไม่ไปตอกย้ำให้เด็กอับอายต่อหน้าเพื่อน หรือ กระทำเพื่อสร้างความสะใจให้กับครู หากลงโทษด้วยความรุนแรงหรือมากเกินไป เด็กจะรู้สึกไร้คุณค่า เจ็บปวดกับการไม่มีคนรัก จนต่อต้านสังคม 

ด้านนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์  ประธานกมธ.วิสามัญรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและความคิดเห็นของประชาชนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า 

ควรกลับไปใช้ระบบการศึกษาที่มีครูประจำชั้น มีการท่องอาขยาน เรียนวิชาหน้าที่ศีลธรรม แต่ไม่ทิ้งเทคโนโลยี จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ความผิดชอบชั่วดีและรู้จักยับยั้งชั่งใจตนเองมากขึ้น ขณะที่นายสมชาย เจริญอำนวยสุข  รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ(สท.)  มองว่า เด็กและเยาวชนไทยต้องการความรัก ความเข้าใจและโอกาส ต้องมองย้อนกลับมาที่ตัวผู้ใหญ่ว่าปัจจุบันได้ให้ความใส่ใจรับฟังและชี้ทางออกที่ถูกต้องให้พวกเขามากแค่ไหน จะช่วยป้องกันภัยความรุนแรงที่อาจเกิดขั้นได้ทันการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์