จี้อย.ฟันฉลากอาหารมั่ววันผลิต-หมดอายุ

นักโภชนาการจี้อย.ทบทวนฉลาก หลังพบสินค้าโกงวันหมดอายุ

เช่น นม ไอศกรีม พิมพ์วันผลิตล่วงหน้า ทั้งที่ผลิตไว้นานแล้ว ส่วนปลากระป๋องก็ยืดวันหมดอายุเป็น 3 ปีจากเดิม 1 ปี ขณะที่ อย.ยันมีเกณฑ์ชัดเจน สินค้าที่เก็บได้ไม่เกิน 90 วันต้องระบุวินผลิต-วันควรบริโภคก่อน-วันหมดอายุ ชี้โรงงานส่วนใหญ่ไว้ใจได้

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม
 

วารสารฉลาดซื้อจัดงานเสวนา "ฉลาก วันหมดอายุ ยา อาหารและเครื่องสำอาง มีไว้เพื่อใคร 

โดย รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
 

ในความเป็นจริงแล้ว การกำหนดวันหมดอายุไม่มีการตรวจสอบว่า อาหารนั้นๆ สามารถเก็บได้จริงหรือไม่ ทั้งที่อาหารแต่ละชนิดมีอายุการเก็บที่แตกต่างกัน เช่น ปลากระป๋องเดิมกำหนดวันหมดอายุไว้แค่ 1 ปีเท่านั้น แต่ขณะนี้ขยายเพิ่มเป็น 3 ปี ซึ่งในความเป็นจริง อย.ไม่เคยลงไปศึกษาวิจัยว่า อยู่ได้ถึง 3 ปีหรือไม่ อย่างนมพาสเจอร์ไรซ์เดิมกำหนดวันหมดอายุไว้ที่ 3 วัน แต่ผู้ประกอบการที่ผลิตนมเหล่านี้มีการพิมพ์วันผลิตล่วงหน้า 10 วันจากวันที่ผลิตจริง เช่นเดียวกับไอศกรีมเมื่อนำมาบรรจุกล่องเล็กจึงค่อยมีการตีพิมพ์วันหมดอายุทั้งที่ผลิตไว้นานแล้ว ในส่วนของฉลากอาหารที่นำเข้าที่เป็นภาษาต่างประเทศ ระบุเป็นปี ค.ศ. ทำให้ผู้บริโภคสับสน ไม่เข้าใจ ซึ่งมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดฉลาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 

ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารวารสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า 

จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ภายในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคใน 20 จังหวัด พบว่าส่วนใหญ่ผู้บริโภคยังไม่เข้าใจ เช่น ความไม่ชัดเจนของวันหมดอายุ เป็นภาษาต่างประเทศ การกำหนดวันเดือนปีไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซ้ำบางผลิตภัณฑ์ยังกำหนดวันผลิตล่วงหน้า ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง บางผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง พบว่าจะระบุเฉพาะวันผลิตเท่านั้น ส่วนวันหมดอายุผู้บริโภคจะต้องคำนวณเอง จึงอยากให้มีการทบทวน เนื่องจากฉลากมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานการนำเสนอข้อมูลต่อผู้บริโภค จึงควรมีการปรับปรุง ไม่ใช่ให้ตัวฉลากกลายเป็นอุปสรรคเสียเอง
 

นายนิรัตน์เตียสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า 

อย.มีเกณฑ์กำหนดไว้แล้ว หากเป็นอาหารเก็บได้ไม่เกิน 90 วัน ต้องกำหนดวันผลิต วันที่ควรบริโภคก่อน และวันหมดอายุ ทั้งนี้ การกำหนดวันหมดอายุ อย.จะพิจารณาจากกระบวนการผลิต วิธีการถนอมอาหาร ค่าความเป็นกรดและด่าง การยับยั้งเชื้อ ซึ่งโรงงานใหญ่ส่วนใหญ่ไม่เป็นปัญหา
 

"ส่วนผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า และมีการระบุวันหมดอายุเป็นภาษาต่างประเทศ และปี ค.ศ. เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้ผลิตขายในเมืองไทยที่เดียว จึงจำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาเป็นมาตรฐานสากล เพื่อส่งขายในประเทศต่างๆ แต่หากตีพิมพ์วันหมดอายุที่เป็นภาษาไทยจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ซึ่งท้ายที่สุดผู้บริโภคเองจะเป็นผู้รับภาระ แต่ อย.ไม่ได้ละเลย ซึ่งคงมีการหารือต่อไป" นายนิรัตน์ กล่าว 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์