เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจโจ๋ไม่วางใจโอ-เอเน็ต

เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจโจ๋ไม่วางใจโอ-เอเน็ต

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 เมษายน 2549 18:23 น.

เอแบคโพลล์ สำรวจความเห็นเยาวชนพบว่าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาปี 2549 และไม่มั่นใจการวัดความรู้แบบโอเน็ต เสนอ 5 แนวทางแก้ไข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนกระแสต่อต้านจะขยายวงกว้าง

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง เยาวชนคิดอย่างไรต่อวิธีการวัดความรู้แบบ O-net และ A-Net โดยสัมภาษณ์รวบรวมข้อมูลจากนักเรียนที่กำลังศึกษาหรือพึ่งจะสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,403 ตัวอย่าง ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ยังเข้าใจไม่ชัดเจนในเรื่องของคะแนน T-Score ระบบ Admission กลาง การใช้ GPA และ GPAX ในการสอบคัดเลือก การสอบ A-Net O-Net และระบบ Admission ตรง

นอกจากนี้ ร้อยละ 83.7 เห็นว่ามาตรฐานการให้คะแนน GPA และ GPAX ของแต่ละสถาบันมีความแตกต่างกัน ร้อยละ 52.9 ยังเห็นว่าการใช้คะแนน GPA (20%) และคะแนน GPAX (10%) มาเป็นส่วนประกอบในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้นไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันตัวอย่างส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบ A-Net และ O-Net ยังขาดความพร้อม โดยร้อยละ 58.2 ต้องการให้ปรับปรุงการประกาศคะแนน ร้อยละ 57.4 ให้ปรับปรุงเรื่องการตรวจข้อสอบ และร้อยละ 55.5 ต้องการให้ปรับปรุงด้านการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์

เมื่อสอบถามถึงความมั่นใจต่อมาตรฐานการตรวจข้อสอบอัตนัย ร้อยละ 2.1 ระบุมั่นใจมาก ร้อยละ 18.8 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 42.4 ระบุค่อนข้างน้อย ร้อยละ 27.8 ระบุน้อย ส่วนความมั่นใจต่อคะแนน O-net และ A-Net ที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 ว่าจะมีความถูกต้อง พบว่าร้อยละ 1.8 ระบุมั่นใจมาก ร้อยละ 20.4 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 40.9 ระบุค่อนข้างน้อย ร้อยละ 23.6 ระบุน้อย และเมื่อสอบถามถึงความมั่นใจต่อระบบ Admission ว่าจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้อย่างแท้จริง พบว่าร้อยละ 3.3 ระบุมั่นใจมาก ร้อยละ 19.4 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 39.6 ระบุค่อนข้างน้อย ร้อยละ 25.1 ระบุน้อย

ดร.นภดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบค โพลล์ กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนกำลังอยู่ในสภาวะสับสนและขาดความชัดเจนในความเข้าใจเกือบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบความรู้เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เช่น ระบบ Admission การสอบ O-net A-Net คะแนน T-Score การใช้ GPA และ GPAX เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกลุ่มเยาวชนมาประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยิ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นในกลุ่มเยาวชนต่อระบบการทดสอบความรู้เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลควรเร่งเข้ามาแก้ไข สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นก่อนที่กระแสต่อต้านระบบใหม่จะขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ จุดที่ต้องเร่งแก้ไขมีอย่างน้อย 5 ประการคือ การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างความตระหนักว่าระบบใหม่ดีกว่าระบบเดิมอย่างไร การทำให้เกิดความเป็นมาตรฐานเดียวกันในการทดสอบ การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบได้ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์