ตลาดน้ำเมาเริ่มคึกคัก หลังสัญญาณเลือกตั้ง

วันนี้ (25 ส.ค.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศปี 2550 เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงซบเซาที่ดำเนินมานับตั้งแต่ช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากที่ทิศทางการเมืองเริ่มคลี่คลายและมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ผ่านการลงประชามติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ซึ่งจะนำมาซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในช่วงปลายปี และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ตามมาภายหลัง

ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

รวมไปถึงความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่จะกล้าจับจ่ายใช้เงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน เม็ดเงินที่จะใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั้ง 2 สภาจะลงไปสู่การสั่งซื้อสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหัวคะแนนและผู้สมัครเป็นจำนวนมาก


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุต่อว่า

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการฟื้นตัวของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาดว่าคงจะเป็นช่วงสั้นๆ เพราะในระยะยาวแล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ยังรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่กระทบด้านเศรษฐกิจ ทั้งจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งราคาน้ำมันซึ่งคาดว่าจะยังไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาอันสั้น
 
นอกจากนี้ การรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ

ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและได้ผล แม้ว่านโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ จะยังไม่ถูกบังคับใช้ แต่ผู้ประกอบการการต่างชะลอ หรือลดการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆ ลง เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม 

 
รายงานระบุต่อว่า

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 พบว่ามีการใช้เม็ดเงินโฆษณาเพียง 593 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 54.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาทั้งสิ้น 1,305 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาดแรงกระตุ้นในช่วงตลาดชะลอตัว 

 
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า

ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 1,436.3 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.0 ซึ่งต่ำกว่าช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 ที่ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.8 โดยเบียร์มียอดจำหน่ายในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 ทั้งสิ้นประมาณ 1,003.3 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เปรียบเทียบกับ 6 เดือนปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 16.3 ในขณะที่สุรามียอดจำหน่าย 433.0 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เปรียบเทียบกับ 6 เดือนปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5.6 
 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า

ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรับเพิ่มขึ้นบางส่วนยังมีปัจจัยจากความกังวลของผู้ค้าปลีกและค้าส่ง เกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราของภาครัฐ ทำให้มีการเร่งสั่งซื้อสินค้าเข้าสต็อกมากขึ้น หากตัดในส่วนนี้ออกไป คาดว่าปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคที่แท้จริงของประชาชนจะขยายตัวไม่มากนัก


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์