เปิดทางโรงเรียนดังเลิกจับสลากเข้า ม.1ใช้สอบแข่งขัน100%

ผลประชุมสพฐ.เปิดทางโรงเรียนดัง สอบเข้าม.1 100%


เปลี่ยนเกณฑ์ภูมิลำเนานักเรียนในเขตพื้นที่บริการจับสลากเข้าร.ร. ไม่เน้นใช้ทะเบียนบ้านของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ แต่ต้องอาศัยอยู่จริง  คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2551 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมว่า ที่ประชุมได้กำหนดการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2551 โดยกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาตั้งคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่ฯ เพื่อกำหนดกลไกและหลักเกณฑ์การดำเนินงาน การกำกับติดตาม


เลขาธิการกพฐ.กล่าวว่า การรับนักเรียนในชั้นมัธยม( ม.)1 สำหรับโรงเรียนทั่วไป ให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ 100% เหมือนเดิม

ส่วนโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ให้ใช้สัดส่วนรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ 50% โดยใช้วิธีจับสลาก และนอกเขตพื้นที่บริการ 50% โดยใช้วิธีสอบคัดเลือกเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปจากปีก่อนคือ จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง และต้องการสอบคัดเลือกเข้า ม.1 ในส่วนของการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ และนอกเขตพื้นที่บริการ รวม 100% สามารถเสนอเหตุผลและความจำเป็นไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ

นอกจากนี้คุณสมบัติของนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการในปีการศึกษา 2551 จะไม่เน้นการเป็นเจ้าบ้านของบิดา มารดา ปู่ ยา ตา ยายเหมือนปีก่อนๆ

แต่จะเน้นการอยู่จริงต่อเนื่อง 2 ปี ของนักเรียนเป็นหลัก โดยดูหลักฐานจากทะเบียนบ้าน และโรงเรียนประถมศึกษาที่จบมา ซึ่งต้องอยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนด้วย คุณหญิงกษมายังได้กล่าวว่า  สำหรับโรงเรียนที่จำเป็นต้องรับนักเรียนด้วยเงื่อนไขพิเศษ เช่น ความสามารถพิเศษ ผู้ทำคุณประโยชน์ ผู้พิการ และผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแล รวมถึงเงื่อนไขหรือข้อผูกพันในการจัดตั้งโรงเรียนนั้น ให้อยู่ในสัดส่วนของการรับนักเรียนนอกเขตพื้นที่บริการในสัดส่วน 5% จากเดิม 10%



เลขาฯกพฐ.กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนที่คณะกรรมการเขตพื้นที่ฯอนุมัติให้ใช้วิธีสอบคัดเลือกได้ในสัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการนั้น


สามารถจัดสอบพร้อมกับการรับนักเรียนนอกเขตพื้นที่บริการได้ แต่ต้องประกาศผลสอบแยก 2 บัญชี ต้องดูแลนักเรียนที่เรียนอ่อน และสอบไม่ได้ให้มีที่เรียนด้วย แต่คิดว่าคงมีโรงเรียนที่ต้องการสอบคัดเลือก 100% ไม่มากนัก คงมีเฉพาะโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงจริงๆ ส่วนจำนวนนักเรียนต่อห้องยังคงไว้ห้องละ 40 คน และขยายได้ไม่เกินห้องละ 50 คน ถ้าจะขยายเกินกว่า 50 คน ให้เสนอเลขาฯ กพฐ.


คุณหญิงกษมากล่าวว่า การรับนักเรียนชั้น ม.4 ให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้น ม.3 เดิมเข้าเรียน โดยพิจารณาศักยภาพที่เหมาะสม

เพราะปีที่ผ่านมา บางโรงเรียนตั้งเกณฑ์เกรดเฉลี่ยไว้ 2.5 ถือว่าไม่ส่งเสริมการพัฒนาเด็ก จึงมอบให้คณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ พิจารณาหาแนวทางอื่นเพื่อให้โอกาสเด็ก แต่ถ้าไม่สามารถเรียนโรงเรียนเดิมได้ ก็ต้องหาสถานศึกษาอื่นรองรับ นอกจากนี้ สพฐ.ยังมอบอำนาจให้คณะกรรมการเขตพื้นที่ฯพิจารณาอนุมัติขยายห้องเรียนพิเศษเพิ่มจากเดิม 2 ห้อง เป็น 4 ห้องได้ โดยพิจารณาความพร้อมอย่างมีคุณภาพ และมีหลักประกันว่าจะมีที่เรียนรองรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าห้องเรียนพิเศษได้ รวมทั้งต้องจัดทุนการศึกษาให้เด็กยากจน 3% ด้วย


'ส่วนการเปิดห้องเรียน English Program (EP) และ Mini English Program (MEP) ได้กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง

คือระดับประถมฯไม่เกินห้องละ 25 คน มัธยมฯไม่เกินห้องละ 30 คน หากจำเป็นให้ขยายได้ไม่เกินห้องละ 40 คน โดยอำนาจอนุมัติเป็นของ สพฐ.'คุณหญิงกษมากล่าวและว่า หลักเกณฑ์การรับนักเรียนยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด โดยจะเสนอนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในสัปดาห์หน้า


ด้านนายวิจิตรกล่าวว่า ได้ให้โจทย์ สพฐ.ว่าจะทำอย่างไรให้การรับนักเรียนไม่มีเรื่องเด็กฝาก รับเงินแป๊ะเจี๊ยะ และไม่เปิดรับนักเรียนหลายครั้ง

เพราะจะเปิดช่องให้รับเงินได้ เช่น โรงเรียนอาจเปิดสอบพร้อมกันในครั้งเดียว แต่อาจแยก 2 บัญชี คือ บัญชีสำหรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ และนอกเขตพื้นที่บริการ โดยให้ขึ้นบัญชีรายชื่อผู้สอบไว้ทั้ง 2 บัญชี หากที่นั่งในกลุ่มใดว่าง ก็ให้เลื่อนเด็กในอันดับถัดไปขึ้นมา เพราะปัญหาเด็กฝากและแป๊ะเจี๊ยะส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการรับนักเรียนรอบ 2 หรือ 3 ซึ่งเป็นช่องทางให้รับเงินได้ แต่หากปิดช่องทางดังกล่าวและรับนักเรียนให้เสร็จในรอบเดียวก็จะไม่มีปัญหา 'ส่วนที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนสอบคัดเลือกนักเรียน ม.1 ได้ 100% ทั้งในส่วนของการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ และนอกเขตพื้นที่บริการนั้นทำได้ ผมเชื่อว่าโรงเรียนเองก็พอใจ เพราะสามารถคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถสูงมาเข้าเรียนได้'นายวิจิตรกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์