แซลมอนเก้-ปักเป้าย้อมสี ขายร้านหมูกะทะ3ปีตาย15

คณะแพทย์ จุฬาฯ เผยพิษปลาปักเป้าคร่าชีวิต 15 ราย

ป่วย 115 ราย เตือนผู้บริโภคใช้วิจารณญาณเลือกซื้อ หลังพบพ่อค้านำมาแล่ขายโดยหลอกลวงเป็นปลาชนิดอื่น แถมบางร้านย้อมสีจนคล้ายปลาแซลมอน ระบุพบมากตามร้านหมูกระทะทั่วไป ชี้ปัจจุบันเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมของอาหารหลายชนิด แม้แต่เนื้อปลาในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ อาจมีปักเป้ารวมอยู่ด้วย

การแสวงหาผลกำไรที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้บริโภคยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางรายที่นำปลาปักเป้ามีพิษออกมาแล่ขาย โดยหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อปลาชนิดอื่น ทั้งนี้ จากการกระทำที่ขาดความยั้งคิดในเรื่องดังกล่าว ล่าสุด มีผลวิจัยออกมาระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการบริโภคปลาปักเป้าที่มีพิษ 15 คน


เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 
จัดอภิปรายพิเศษ ฉลอง 60 ปีแพทย์จุฬาฯ เรื่อง “พิษจากปลาปักเป้า : มหันตภัยใกล้ตัวในอาหาร” รศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 มีผู้ป่วยโรคพิษปลาปักเป้าทะเล 95 รายปลาปักเป้าน้ำจืด 13 ราย ไม่ทราบ 7 ราย รวม 115 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15 คน จังหวัดที่มีผู้ได้รับโรคพิษจากปลาปักเป้ามากที่สุด คือ ชลบุรี 46 ราย เสียชีวิต 4 คน รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร 35 ราย สตูล 10 ราย ขอนแก่น 9 ราย สมุทรปราการ 7 ราย สมุทรสงคราม 4 ราย ชัยภูมิ 2 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และไม่ทราบจังหวัดอีก 7 ราย 


ส่วนอาหารที่นิยมนำปลาปักเป้ามาประกอบ ได้แก่
 
ไข่ปลาทอด/ต้ม ปลาทอด/ปิ้ง/ย่าง ต้มยำปลา ก๋วยเตี๋ยวปลา ต้มยำไข่ปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าบางแห่งนำเนื้อปักเป้าไปย้อมให้มีลักษณะคล้ายปลาแซลมอน โดยจะใช้สีผสมอาหาร ทำให้สีของเนื้อปลาเป็นสีทองคล้ายเนื้อปลาแซลมอน ซึ่งจะพบมากในร้านอาหารหมูกระทะและจิ้มจุ่ม ดังนั้น จึงฝากเตือนประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบกินอาหารตามร้านหมูกระทะ ต้องดูให้แน่ชัดว่าเป็นปลาชนิดใดก่อนบริโภค


ขณะนี้เนื้อปลาปักเป้าได้กระจายไปทั่วประเทศ

อีกทั้งยังกลายเป็นส่วนผสมของอาหารหลายชนิด เช่น อาหารที่ทำจากปลาช่อน หรือปลากะพงที่ไม่มีหนังและราคา แต่ความจริงแล้วทำมาจากปลาปักเป้า หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่วางขายปลา และบอกว่าเป็นปลาคุณภาพ แต่จริงๆ แล้วอาจมีปลาปักเป้ารวมอยู่ด้วย รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว


รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวว่า

อาการของผู้ป่วยที่รับพิษปลาปักเป้าจะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานไปแล้ว 10-45 นาที แต่บางรายอาจนานถึง 4 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้ อาการระยะแรก ผู้ป่วยจะชาริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน ระยะที่สอง จะมีอาการชามากขึ้น อ่อนเพลีย แขน-ขาไม่มีแรง เดินหรือยืนไม่ได้ ส่วนระยะที่สาม กล้ามเนื้อของผู้ป่วยจะกระตุกคล้ายชัก เดินเซ มึน พูดลำบากถึงพูดไม่ได้ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และขั้นรุนแรงม่านตาขยายไม่ตอบสนอง ความดันสูงชั่วคราว กล้ามเนื้อลูกตาอัมพาต หัวใจเต้นช้า หายใจไม่ออก หมดสติ หรือเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังได้รับการดูแลรักษา
 
รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า
 
ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษปลาปักเป้าได้ จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งทางการแพทย์จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง กระทั่งพิษถูกขับออกไปจากร่างกายทางไต ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเป็นปกติ ส่วนการป้องกันนั้นมี 2 วิธี คือ 1.ไม่รับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด ทั้งนี้ ในกรณีปลาที่จะซื้อกินมีลักษณะที่น่าสงสัยว่าเป็นปลาปักเป้า คือ เนื้อขาวคล้ายเนื้อไก่ ไม่มีหนัง ราคาถูกประมาณ 30-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือปลาที่ใช้ชื่อว่า ปลาเนื้อไก่ ปลาช่อนทะเล ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะพิษจากปลาปักเป้าไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น แม้ผ่านการต้ม ทอด ย่างก็ไม่สามารถรับประทานได้ และ 2.ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา
 
มีการส่งข่าวเตือนภัยพิษปลาปักเป้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอ้างถึงพยาบาลสาวในโรงพยาบาลของรัฐชื่อดังในเมืองกรุงเสียชีวิตจากพิษปลาปักเป้า ซึ่งโรงพยาบาลชื่อดังในข่าวที่อ้างถึง คือ โรงพยาบาลจุฬาฯ แต่การส่งอีเมลต่อๆ กันหลายครั้งเป็นการเติมสีสัน ซึ่งความจริง คือ มีพยาบาลชื่อเล่นว่า “เป้า” เสียชีวิตจริง แต่แพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด


รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวด้วยว่า

สำหรับร้านที่นำเนื้อปักเป้าไปย้อมให้มีลักษณะคล้ายปลาแซลมอน จะใช้สีผสมอาหาร โดยสีของเนื้อปลาจะออกเป็นสีทองคล้ายเนื้อปลาแซลมอน ไม่มีลักษณะของสีขาวอมชมพูซึ่งเป็นลักษณะของปลาปักเป้าแท้ๆ อีกทั้งเมื่อดูผิวเผินแล้วจะเห็นได้ว่า ลักษณะไม่แตกต่างกันเลย จะพบมากในร้านอาหารหมูกระทะและจิ้มจุ่ม จึงอยากฝากเตือนประชาชนทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบกินอาหารตามร้านหมูกระทะ ก่อนบริโภคควรดูให้แน่ชัดว่าเป็นปลาชนิดใด


ขณะนี้เนื้อปลาปักเป้าได้กระจายไปทั่วประเทศ
 
อีกทั้งยังกลายเป็นส่วนผสมของอาหารหลายชนิด เช่น อาหารที่ทำจากปลาช่อน หรือปลากะพงที่ไม่มีหนังและราคา แต่ความจริงแล้วทำมาจากปลาปักเป้า หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่มีวางขายปลา และบอกว่าเป็นปลาคุณภาพ จริงๆ แล้วอาจจะมีปลาปักเป้ารวมอยู่ด้วย รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว 

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายปรากฏว่า
 
มีหญิงสาวใส่ชุดดำลุกขึ้นพูดว่า เป็นพี่สาวของพยาบาลจุฬาฯ ที่เสียชีวิต และรู้สึกเสียใจที่มีการกล่าวถึงผู้ตายในลักษณะติดตลก พร้อมกับโชว์เอกสารสอบถาม รศ.นพ.นรินทร์ ว่า น้องสาวเสียชีวิตเพราะเหตุใดและเกี่ยวกับปลาปักเป้าหรือไม่ เพราะหนังสือที่ได้จากโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้อ่านไม่ออก อีกทั้งโรงพยาบาลแจ้งว่าจะบอกสาเหตุการตายที่ชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้เวลาล่วงเลยมา 2 เดือนก็ยังไม่ทราบ 

ภายหลังหญิงสาวชุดดำตั้งข้อซักถาม รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวชี้แจงว่า
 
โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว และขอยืนยันว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ไม่ต้องเป็นห่วง จากนั้น รศ.นพ.นรินทร์ กล่าวเชื่อมเข้าสู่การอภิปรายเพื่อให้วิทยากรอภิปรายต่อไป 

นายบดินทร์ อิทธิพงษ์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า

ปลาปักเป้าที่นิยมนำมารับประทานนั้น ส่วนใหญ่เป็นปลาปักเป้าทะเล มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ 1.ปลาปักเป้าที่มีลักษณะตอนหลังของปลาไม่มีตุ่มหนามเล็กๆ ผิวหนังเรียบ 2.ปลาปักเป้าที่มีตุ่มหนามเล็กบริเวณหัวไปจนถึงครึ่งตัว และ 3.ปลาปักเป้าที่มีแถบตุ่มตั้งแต่หัวไปจนถึงบริเวณครีบหลังของปลา โดยใน 3 ชนิดนี้มีเพียงชนิดที่ 3 เท่านั้นที่มีพิษ ทั้งนี้ พิษในปลาปักเป้าจะมีมากในส่วนของไข่ ลำไส้ ผิวหนัง และตับ ส่วนเนื้อปลาจะมีพิษน้อยมาก หรือไม่มีเลย และพิษจะมากในช่วงฤดูวางไข่ ซึ่งพิษปลาปักเป้าทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น เวลาไปซื้อปลาต้องสังเกตให้ดี และไม่ควรกินในปริมาณที่มากเกินไป

 ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

แนวทางป้องกันเรื่องของการนำเข้าปลาปักเป้ามาในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ดังนั้น การนำเข้า หรือจำหน่ายจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด ส่วนอนาคตจะปรับเปลี่ยนหรือไม่คงต้องดูข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ถึงการพิสูจน์ลักษณะของปลาปักเป้า อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปถึงประชาชนทุกคนว่า ถ้าไปซื้อปลาตามท้องตลาด หรือที่ไหนก็ตาม หากไม่เห็นลักษณะของตัวปลา หรือเป็นเนื้อปลาที่ไม่มีหนัง ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสเป็นปลาปักเป้า


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์