เริ่มวันแรก (1 เม.ย.) เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ รักษาทุกโรงพยาบาล

เริ่มวันแรก (1 เม.ย.) เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ รักษาทุกโรงพยาบาล

วันนี้(1เม.ย.) เป็นวันแรก ของการเดินหน้านโยบาย 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' โดยผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ภายในเวลา 72 ชั่วโมงแรก และหากพบว่า โรงพยาบาลใดฝ่าฝืน จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ หรือเพิกถอนใบประกอบการ

กลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่อยู่ภายใต้นโยบาย 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' หรือ UCEP (ยู-เซป) : Universal Coverage for Emergency Patients ประกอบด้วย 6 กลุ่มอาการ คือ 

1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6.มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะติดประกาศคำนิยาม 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต' ไว้บริเวณหน้าห้องฉุกเฉินของโรงพพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปรับทราบ

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะสังกัดอยู่ในสิทธิรักษาสุขภาพแบบใด เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ในโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุที่สุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเมื่อพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงไปแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสิทธิของตนเองต่อไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 หลังคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา(2560)

ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ,กองทุนประกันสังคม, กองทุนสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ร่วมกันกำหนดอัตราการค่ารักษาพยาบาลขึ้นมาแล้ว แบ่งออกเป็น 3,000 รายการ โดยแต่ละกองทุนจะชดใช้ค่ารักษาพยาบาลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน ในช่วง 72 ชั่วโมงแรก

นโยบาย 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' หรือ UCEP ซึ่งย่อมาจาก Universal Coverage for Emergency Patients หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก

ขณะที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ส่วนระบบสำรองเตียงรับผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงจากภาคเอกชนนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานให้โรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดรองรับไว้แล้ว โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลข 02-872-1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลใด ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีนี้ ในการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และหากรุนแรงอาจถึงขั้นเพิกถอนใบประกอบการได้


ที่มา vocie tv

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์