ผ่าเอาอวัยวะเด็กทารกเจ้าชายนิทรายังมีลมหายใจ

ผ่าเอาอวัยวะเด็กทารกเจ้าชายนิทรายังมีลมหายใจ

ทารกวัย 29 วัน สำลักนมจนเป็นเจ้าชายนิทรา แม่บริจาคร่างให้สภากาชาดไทย แพทย์ระบุสมองตาย หมดสิทธิกลับมามีชีวิต เตรียมผ่าตัดเอาอวัยวะ ชี้ไม่ใช่เป็นการถอดออกซิเจนให้ตาย ด้านนายกแพทยสภา ติงอาจถูกดำเนินคดีข้อหาเจตนาฆ่า เพราะตามกฎหมายสมองตายไม่ได้หมายถึงเสียชีวิต หากจะผ่าเอาอวัยวะต้องมีทีมแพทย์พิสูจน์และพ่อแม่เซ็นเอกสารยินยอม

การบริจาคร่างกายทารกสมองตาย แต่ยังมีลมหายใจรายนี้เปิดเผยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีทารกแรกเกิดวัย 29 วัน สำลักนมอาการสาหัส ร่างกายไม่ตอบสนอง นอนเป็นเจ้าชายนิทรารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา บิดามารดาของทารกรายนี้ ตัดสินใจบริจาคอวัยวะของทารกให้สภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยทารกป่วยรายอื่นที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ทารกรายดังกล่าวคือ ด.ช.ภัทรพันธ์ โสพันธ์ หรือน้องเก้า อายุ 29 วัน นอนสงบนิ่งอยู่ในห้องไอซียู มีสายน้ำเกลือและเครื่องช่วยหายใจติดอยู่ โดยมีนางประไพพิศ โสพันธ์ อายุ 30 ปี มารดา ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ ศัลยกรรมชาย เฝ้าดูอาการด้วยความเศร้าสลด และมี นพ.วรณพ วรรณวิจิตร แพทย์และหัวหน้าศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา สภากาชาดไทย คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

นางประไพพิศ กล่าวว่า น้องเก้าเป็นบุตรคนที่สองของตนกับนายถาวร โสพันธ์ อายุ 35 ปี เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลอดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา น้ำหนักตัว 2.9 กก. แรกคลอดน้องเก้ามีอาการสำลักน้ำคร่ำ แพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด กระทั่งผ่านไป 1 สัปดาห์ ก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาเลี้ยงดูที่บ้านได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม หลังจากบุตรชายดูดนมจากขวดแล้วนอน ก็ได้ผละไปทำงานบ้าน เมื่อกลับไปดูอีกครั้งพบว่าเด็กน้อยมีอาการตัวซีดเหลืองเหมือนไม่หายใจ จึงรีบพาไปโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและนำเข้าห้องไอซียู ตลอดเวลาที่ผ่านมา ร่างกายไม่มีอาการตอบสนอง และแพทย์ระบุว่าสมองตายจากภาวะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากหมดสติไปนาน จึงปรึกษากับสามีเห็นพ้องกันว่าบริจาคร่างของน้องเก้าให้สภากาชาดไทย เพื่อผ่าเอาอวัยวะไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นการทำบุญให้ลูก

นพ.วรณพ กล่าวว่า จากการตรวจ พบว่าสมองทารกขาดอากาศหายใจ นานพอที่ทำให้สมองตาย ซึ่งทางกฎหมายถือว่าคนที่สมองตายเป็นคนที่เสียชีวิตแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเหลือเพียงแต่ว่าจะนำเครื่องช่วยหายใจออกก็เป็นการสิ้นสุด การที่ยังคงเครื่องช่วยหายใจไว้ จะทำให้อวัยวะภายในของทารกยังมีความสมบูรณ์ พร้อมต่อการที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งบิดามารดาของเด็กก็มาปรึกษาและตัดสินใจที่จะนำเครื่องช่วยหายใจออก เพื่อบริจาคอวัยวะของทารกให้สภากาชาดไทยนำอวัยวะไปช่วยผู้ป่วยทารกที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ

นพ.วรณพ กล่าวว่า แพทย์ที่ดูแลจึงต้องตรวจและประเมินผล ระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยทำการประเมิน 2 ครั้ง และเมื่อแน่ใจแล้วก็จะติดต่อกับสภากาชาดมาทำการผ่าตัดเอาอวัยวะที่ใช้การได้ไป ถือเป็นรายแรกของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาที่เปิดเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะให้แก่สภากาชาด ซึ่งอวัยวะของทารกจะรีบนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยในวัยเดียวกันที่กำลังรอการผ่าตัดอยู่

นพ.วรณพ กล่าวอธิบายว่า ในส่วนของกฎหมายถือว่าทารกเสียชีวิตแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะดึงเครื่องช่วยหายใจออกซิเจนออกเพื่อให้ผู้ป่วยหมดลมหายใจ โดยการผ่าตัดยังคงสภาพเดิม คือต้องใส่สายออกซิเจนเพื่อรักษาสภาพอวัยวะของทารกเอาใว้ให้สมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากหลังผ่าตัดจะต้องรีบนำอวัยวะที่ได้ไปผ่าตัดใส่ให้ผู้ป่วยที่รออยู่ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยว่าใครเป็นผู้รับบริจาคไป ส่วนน้องเก้า หลังผ่าตัดนำอวัยวะไปแล้ว ทางครอบครัวก็สามารถนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ ซึ่งการบริจาคครั้งนี้ผู้ปกครองต้องเซ็นยินยอมและกำกับการผ่าตัด เพื่อป้องกันการนำอวัยวะไปขายอย่างที่เคยมีข่าว ซึ่งการบริจาคอวัยวะของน้องเก้าถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องอนุโมทนาให้ผู้ป่วย ได้ผลบุญจากการนำอวัยวะไปช่วยชีวิตทารกคนอื่น

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวแสดงความเห็นกรณีนี้ว่า การที่คนไข้มีอาการสมองตาย ในทางกฎหมายยังไม่ถือว่าคนไข้เสียชีวิตแล้ว ทางกฎหมายจะถือว่าคนไข้เสียชีวิตก็ต่อเมื่อหัวใจหยุดทำงาน ในทางการรักษาของแพทย์คนไข้ที่มีอาการสมองตาย แม้ว่าญาติจะร้องขอให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจ แพทย์ก็ไม่สามารถทำให้ได้ เพราะจะผิดกฎหมายอาญาข้อหาฆ่าคนตาย ต้องรับโทษทางอาญา จะทำได้ในกรณีที่ตัวคนไข้เองได้เขียนบอกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์จึงจะสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ พ่อแม่ของน้องเก้าต้องการบริจาคอวัยวะทารกให้สภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือคนไข้รายอื่นนั้น ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากในอนาคตมั่นใจว่าจะไม่มีการฟ้องร้องกันขึ้น แพทย์สามารถทำได้ แต่หากมีการฟ้องร้องกันขึ้น แพทย์อาจต้องถูกดำเนินคดีฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นเพื่อหวังอวัยวะ มีโทษถึงประหารชีวิต ดังนั้นแพ ทย์ควรที่จะมีการดำเนินการป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกฟ้องร้อง ซึ่งในระเบียบของแพทยสภา การบริจาคอวัยวะจะต้องมีการตรวจสอบร่างกายของผู้ป่วยตามขั้นตอนการแพทย์ว่าเสียชีวิตจริง ต้องทำโดยคณะแพทย์ 2-3 คนขึ้นไป และมีพ่อแม่เซ็นหนังสือยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องมีพยานเซ็นรับ เพื่อใช้เป็นหลักฐานกรณีที่มีการฟ้องร้องกัน

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การทดสอบคนไข้ทางการแพทย์มีแนวทางที่จะตรวจสอบผู้ป่วยว่าตายหรือไม่ ด้วยการตรวจสอบภาวะความเป็นกรดด่างของกระแสเลือด การตรวจสอบคลื่นสมอง แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบดังกล่าวก็เสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย เพราะในประเทศไทยกฎหมายยังระบุว่าคนตาย หัวใจจะต้องหยุดเต้นเท่านั้น

นายกแพทยสภา กล่าวว่า ในรายที่ต้องการบริจาคอวัยวะไปช่วยเหลือบุคคลอื่นนั้น จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดขณะที่หัวใจยังไม่หยุดเต้น อวัยวะจึงจะสามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเสี่ยงผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดได้ จะต้องมีการเตรียมหลักฐานความยินยอมของพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงหลักฐานการตรวจพิสูจน์การตายของบุคคลผู้นั้นไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งการตรวจพิสูจน์การตายนั้นแพทย์จะทำเองตามลำพังไม่ได้ จะต้องมีการทำเป็นคณะแพทย์อย่างน้อย 2-3 คน ร่วมตรวจพิสูจน์อาการ และที่สำคัญต้องมีพยานรู้เห็น ไม่เช่นนั้นเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้

"แพทยสภากำลังพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเรื่องการวินิจฉัยคนตายหรือไม่ตาย ซึ่งกฎหมายเดิมระบุว่าคนตายคือคนที่หัวใจหยุดเต้นแล้วเท่านั้น ซึ่งการระบุดังกล่าวเป็นเรื่องที่ล้าหลัง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า สามารถพิสูจน์ได้ว่าตายหรือไม่ โดยไม่ต้องรอให้หัวใจหยุดเต้น" นายกแพทยสภา กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์