จัดระเบียบรถตู้ เตรียมโละทิ้ง วินรถตู้ ตจว.

จัดระเบียบรถตู้ เตรียมโละทิ้ง วินรถตู้ ตจว.

หลัง "รัฐบาล คสช." ปฏิบัติการจัดระเบียบวินรถตู้สาธารณะหมวดที่ 2 วิ่งจากกรุงเทพฯข้ามจังหวัดรัศมีไม่เกิน 300 กม. จำนวน 4,382 คัน จาก "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" ย้ายไปอยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิต เอกมัยและสายใต้ จนสำเร็จระดับหนึ่ง

ถึงแม้ว่าช่วงแรกจะอลหม่านไปบ้าง เพราะประชาชนคนใช้บริการยังไม่คุ้นชินกับการเดินทางหลายต่อ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรถตู้เริ่มส่งเสียงโอดควาญถึงรายได้ที่หายไปจากการจัดระเบียบของ คสช. เนื่องจากมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการน้อยลง

"สมศักดิ์ ห่มม่วง" รองปลัดด้านการขนส่ง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะมีภาระหนี้กับสถาบันการเงินหลังรัฐจัดระเบียบใหม่ต่อคณะกรรมการปฏิรูปราชการแผ่นดินคณะที่5 มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

"ช่วง ต.ค.-ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจัดระเบียบผู้ประกอบการให้ไปจอดที่สถานีขนส่ง 3 แห่ง ทำให้จำนวนเที่ยววิ่งและผู้โดยสารลดลง จากการสำรวจมีผู้ประกอบการ 184 ราย ที่ต้องผ่อนชำระกับแบงก์ คิดเป็นเงินผ่อนชำระและดอกเบี้ยรวม 110 ล้านบาท อีก 174 รายอยู่ระหว่างบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.กำลังรวบรวมข้อมูล"

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับการผิดชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายเวลาออกไป พร้อมพิจารณาลดดอกเบี้ยลงจากเดิมผ่อนชำระ 48 เดือน ดอกเบี้ย 5% อาจมีพักชำระหนี้ หรือโอนหนี้จากไฟแนนซ์ไปอยู่ในสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน

ขณะเดียวกันจะมีมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ในวันที่ 12 ม.ค. จะหารือร่วมกับคณะกรรมการบริหารเส้นทาง 30 จังหวัด พิจารณาหาจุดจอดรถที่มีความปลอดภัย เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่ของรถตู้ตามอำเภอจะไม่มีสถานีจอดรถชัดเจน ซึ่งก่อนวันที่ 2 ก.พ.นี้ มีจัดจุดตรวจสอบ (Check Point) ตรวจสภาพรถ และพนักงานขับรถในเส้นทางสำคัญทุกจุด ซึ่งจะลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่สถานีต้นทาง-ปลายทางวันที่ 31 มี.ค. 2560

ด้าน "พันเอกสุวิทย์ เกตุศรี" รองผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กล่าวว่า จะใช้เวลา 3 สัปดาห์เตรียมจุดปล่อยรถตู้กว่า 199 จุดทั่วประเทศ ซึ่งมีถูกกฎหมายไม่ถึง 100 แห่ง โดยจัดให้มีคณะทำงานติดตามและตรวจสอบสภาพรถและพนักงาน เพื่อสลายวินรถตู้โดยสารสาธารณะ ลดอุบัติเหตุ ซึ่งมาตรการเร่งด่วนคือติดตั้งระบบนำทาง หรือ GPS และแอปพลิเคชั่นตรวจจับความเร็ว

ขณะที่ผู้คุมนโยบาย "พิชิต อัคราทิตย์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รถตู้ที่มีปัญหาในขณะนี้เป็นรถร่วมหมวด 2 ภายใต้การดูแลของ บขส.มีจำนวน 6,431 คัน การแก้ปัญหาตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในปี 2560 นี้ เริ่มในทันทีให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ติดตั้งระบบ GPS ให้เสร็จภายใน มี.ค.นี้ เพื่อคุมความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเมื่อติดแล้วจะคุมทั้งรถและคนขับได้ เนื่องจากจะสามารถเชื่อมระบบ GPS ในรถตู้มายังศูนย์ภาคและส่วนกลางได้ จะรู้ว่ารถตู้ที่กำลังวิ่งใครเป็นคนขับ วิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่

อีกทั้งจะบังคับให้รถตู้ทุกคันจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามสถานีขนส่งของ บขส.และที่จังหวัดกำหนดเท่านั้น เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบสภาพรถและคนขับที่ต้องขับไม่เกินวันละ 8 ชม. เพราะรถตู้เกิดปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นรถจอดอยู่นอกพื้นที่ รวมถึงจะกำหนดบทลงโทษครอบคลุมผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่เฉพาะคนขับ

"การสางปัญหาต้องเน้นการบริหารจัดการเป็นหลัก จะให้ผู้ประกอบการรถตู้ตั้งเป็นนิติบุคคลขึ้นมาคุมการทำงาน จะไม่ใช้เป็นรายย่อยกระจัดกระจายเหมือนที่ผ่านมา"

นายพิชิตกล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการระยะยาว จะเปลี่ยนรถตู้มาเป็นรถไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่งให้หมดในปี 2560 ขณะนี้ให้ ขบ.และ บขส.ร่วมกันพิจารณาแนวทางจะสั่งซื้อรถมาจากไหน เช่น ผู้ผลิตในประเทศหรือนำเข้า คาดว่าจะเริ่มเปลี่ยนได้ใน 6 เดือนนี้

"รถตู้มีข้อดีคือสะดวก ไม่ต้องรอนาน เมื่อคนเต็มก็ออกทันที คนเลยชอบใช้บริการ แต่ที่เกิดปัญหาบ่อยครั้ง เพราะมีการบรรทุกคนเกินกำหนด และโครงสร้างตัวรถไม่ค่อยปลอดภัย การเปลี่ยนมาใช้รถไมโครบัสก็เป็นวิธีการที่เราจะทำให้สำเร็จในปีนี้ เราจะทำให้ดีที่สุด เพราะการลดอุบัติเหตุคงไม่หมดเสียทีเดียว และขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนขับในการใช้รถใช้ถนนด้วยเช่นกัน"

ถึงจะมีมาตรการระยะสั้นและยาวออกมาแต่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลคสช.จะปิดฉากรถตู้ตีนผีได้สำเร็จดังหวังหรือไม่ในเมื่อสัมปทานคิวรถตู้ที่วิ่งกันอยู่ในปัจจุบัน ล้วนอยู่ในมือนักธุรกิจ-นักการเมืองขาใหญ่กันทั้งนั้น


ที่มา - prachachat

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์