สหรัฐว่าแน่ยังพังพาบ สะพานไทย ไม่เสี่ยง ถล่ม ชัวร์ ?

หากไม่ใช่การก่อการร้ายก็ต้องบอกว่า “ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ?!?”

ไม่น่าเชื่อว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาจะเกิดเหตุ “สะพานถล่ม !!” สะพานข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีในรัฐมินนิโซตาถล่ม รถยนต์กว่า 50 คันตกลงสู่แม่น้ำ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค. มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ สูญหาย 8 คน บาดเจ็บอีกหลายสิบคน เสียหายทางด้านมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมหาศาล และไหนยังจะต้องใช้เงินฟื้นฟู-ซ่อมแซมอีกมากโข !?!
 
พลันที่เกิดเหตุในสหรัฐ ไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ตื่นตัวตรวจสอบสะพานต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำ สะพานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสะพานในเขตกรุงเทพฯ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
 
เหตุเกิดที่อเมริกา...สร้างความหวาดผวามาถึงไทย !!
 
กับเรื่อง “สะพานถล่ม” นี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์-ระบบการก่อสร้างยุคใหม่ครบวงจร ชาติชาย สุภัควนิช ประธานกรรม การบริหาร บริษัท ทูพลัส ซอฟท์ จำกัด สะท้อนว่า... ในสมัยก่อนนั้นนิยมสร้าง “สะพานเหล็ก” เป็นส่วนใหญ่ เพราะวิทยาการคอนกรีตอัดแรงยังไม่มี-ไม่แพร่หลาย จนเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้จึงเริ่มเปลี่ยนแปลง ซึ่งสหรัฐเองสะพานที่สร้างขึ้นในยุคหลัง ๆ ก็เปลี่ยนมานิยมก่อสร้าง “สะพานคอนกรีตอัดแรง” มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำกว่าสะพานเหล็กรูปพรรณ 
 
ทั้งนี้ การถล่มอย่างที่เกิดกับสะพานข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีนั้น

โดยหลักการทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจงกรณีสะพานใด สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือ “ขาดการบำรุงรักษาที่ดีพอ” เกิดการชำรุดเสียหายของชิ้นส่วนโครงสร้าง รวมถึงจุดต่อของชิ้นส่วน อันเกิดจากสนิม เนื่องจากโครงสร้างสะพานอยู่กลางแจ้งและต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่รุนแรงตลอดเวลา ทั้งหนาว ร้อน ชื้น หรือหิมะ และต้องรับน้ำหนักจากรถตลอดเวลา
 
จนที่สุดก็อาจเกิดกรณี “สะพานถล่ม” ขึ้น !! 
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้บอกอีกว่า...

สำหรับสะพานในไทยทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่สร้างขึ้นยุคหลัง ๆ มักจะเป็นสะพานที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กและคอนกรีตอัดแรงเป็นส่วนใหญ่ โอกาสเกิดพังถล่มแบบในสหรัฐจึงค่อนข้างยาก จุดเสี่ยงในการพังถล่มค่อนข้างน้อยและอยู่ในวงแคบ ซึ่งในอดีตมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่เป็นโครงสร้างเหล็กอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากต้องเสียค่าซ่อมบำรุงตลอดเวลา 
 
สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายุคใหม่ ก็มักจะเป็นสะพานแขวนที่ใช้สายเคเบิลช่วยดึง

เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างเสาตอม่อสะพานที่กว้างขึ้น เพื่อความสวยงามและไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ โครงสร้างตัวสะพานมักจะเป็นคอนกรีตอัดแรง แบบก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ซึ่งอาศัยการดูแลค่อนข้างน้อย 
 
และกับสะพานที่มีเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะข้ามแม่น้ำ หรือยกระดับเหนือถนนต่าง ๆ  ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นโครงสร้างคอนกรีตอัดแรง ยกมาวางที่เสาตอม่อสะพาน หรือเป็นสะพานที่หล่อคอนกรีตกับที่ หรือเป็นพื้นสะพานคอนกรีตอัดแรงแบบสำเร็จรูป ซึ่งโอกาสที่จะพังถล่มลงมาก็ค่อนข้างเป็นไปได้น้อย 
 
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิด-ใช่ว่าจะวางใจได้ 100%
 
ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงในเมืองไทย

ไม่นับรวมกรณีโกง-กิน   “ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสะพานมักจะเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้คาดการณ์ของผู้ออกแบบก่อสร้าง” เช่น สะพานโดยทั่วไปมักจะไม่ได้มีการออกแบบให้สามารถรับแรงด้านข้าง ซึ่งรถบรรทุกที่บรรทุกหนักและสูงกว่าที่กำหนดก็สามารถกระแทกในแนวราบจนสร้างความเสียหายต่อสะพานได้ หรืออาจจะเสียหายเพราะเหตุระเบิดหรือเพลิงไหม้รถ หรือจากแผ่นดินไหว ซึ่งปกติสะพานที่ไม่ได้สร้างในเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวทางวิศวกรก็มักจะไม่ได้ออกแบบรองรับเผื่อไว้ 
 
และในเมืองไทยที่จริงแล้วก็เคยมีเหตุ “สะพานพัง-สะพานขาด-สะพานถล่ม” ในหลายจังหวัด ในช่วงที่เกิดภัยน้ำท่วม-น้ำไหลหลาก ซึ่งยุคปัจจุบันภัยธรรมชาติยิ่งรุนแรง...ยิ่งน่าห่วง !!
 
ประเด็นที่ต้องขบคิดสำหรับประเทศไทยเรา

แม้จะมีการการันตีความปลอดภัยของสะพานในกรุงเทพฯ ก็คือจุดที่ประธานบริษัททูพลัสซอฟท์ชี้ว่า... เรื่องสะพาน และรวมถึงอาคาร โครงสร้างสาธารณะที่มีประชาชนจำนวนมากใช้สอยกันทุกวันนั้น ในภาพรวมยังขาดการดูแลบำรุงรักษา-ยังไม่มีมาตรการตรวจสอบดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งควรจะต้องสร้างมาตรฐานและเครื่องมือตรวจสอบอย่างเป็นระบบ เพื่อ “กันไว้ดีกว่าแก้” 
 
ทั้งนี้และทั้งนั้น ควรต้องมีการพัฒนาระบบบริหาร

ไม่ว่าจะเป็นสะพาน หรืออาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่แล้วก็อาจจะให้   “ประชาชน” ร่วมเป็น “วิศวกรอาสา” นำคอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ตมาใช้ เป็นระบบที่สามารถสรุปและติดตามการตรวจสอบแต่ละสะพาน-แต่ละจุดได้ตลอด ลิงค์ให้ประชาชนสามารถรายงานปัญหาที่พบได้ แทนการจดบันทึกด้วยกระดาษ เพื่อให้ติดตามปัญหาและแก้ไขได้ทันการ
 
“รอปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยแก้ไขตามหลัง

หมายถึงชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ซึ่งการมีระบบบริหาร ตรวจสอบ บำรุงรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้เงินงบประมาณของประชาชนถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าที่สุด แทนที่จะใช้วิธีชดเชยเมื่อเกิดการสูญเสีย สร้างใหม่กันไปเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการเสียหาย หรือทำกันแบบวัวหายล้อมคอกอยู่ร่ำไป” ...ชาติชาย-ผู้เชี่ยวชาญระบบไอทีก่อสร้างกล่าวน่าคิด
 
“สะพานถล่ม” ที่สหรัฐอเมริกา...ทั่วโลกตื่นตัวตรวจสอบ
 
ในไทยก็น่าจะได้มีการ “ล้อมคอก” ให้ดี “ก่อนวัวหาย”
 
แต่สำคัญคือต้อง “ใช้งบคุ้มค่า-ได้ผล” ไม่รั่วไหล !!!!!.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์