พินัยกรรมยกมรดก 300 ล้านให้ ศักดิ์ชัย กาย โมฆะ คำพิพากษาฎีกาชี้พิรุธหลายข้อ

พินัยกรรมยกมรดก 300 ล้านให้ ศักดิ์ชัย กาย โมฆะ คำพิพากษาฎีกาชี้พิรุธหลายข้อ

ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้พินัยกรรมที่นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร ยกทรัพย์มรดกให้แก่นายศักดิ์ชัย กาย เจ้าของนิตยสารลิปส์ ประกอบด้วยที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ ต.ทุ่งวัดดอน อ.ยานนาวา กทม.พร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเลขที่ 3 G คอนโดมิเนียมการ์เด้นคลิฟ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เป็นโมฆะ

คดีดังกล่าวศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในคดีที่นายธีรวัต ณ ป้อมเพชร บุตรชาย นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร ยื่นฟ้อง นายศักดิ์ชัย กาย ต่อศาลแพ่งกรณีทำพินัยกรรมปลอมของนายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร ผู้เป็นบิดา ยกทรัพย์มรดก ให้แก่จำเลยขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2548 ของนายวิวรรธน์ เป็นโมฆะ ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ให้นายศักดิ์ชัยชนะคดี

 ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ว่า พินัยฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ

พินัยกรรมยกมรดก 300 ล้านให้ ศักดิ์ชัย กาย โมฆะ คำพิพากษาฎีกาชี้พิรุธหลายข้อ

สำหรับเหตุผลคำพิพากษาศาลฎีกาให้พินัยกรรมโมฆะสรุปได้ดังนี้

1.ผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ที่ไม่อาจลงความเห็นยืนยันได้ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม กรณีไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม เป็นลายมือชื่อผู้ตายหรือไม่

2.พฤติกรรมของผู้ตายในการลงลายมือชื่อในเช็คธนาคารกสิกรไทย ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาภาพถ่ายรายการเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบในการทำพินัยกรรม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม ลายมือชื่อหลังซองบรรจุพินัยกรรม มีลายมือชื่อที่แตกต่างออกไปเป็นพิรุธ

3.พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำพินัยกรรมมีพิรุธ ทั้งนี้วันที่ 21 ธันวาคม 2548 ผู้ตายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสมิติเวช กลับออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับบ้านหลังวันที่ 14.46 น. วันดังกล่าวผู้ตายมีอายุ 90 ปีเศษ มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ระบบสมอง และมะเร็งปอด และได้ความจากนายวัฒนา คำภาปล้อง พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ตายว่า หลังจากกลับบ้านแล้ว เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ตายให้พยานพาไปซื้อเค้ก แต่เมื่อถึงร้านเค้กก็บอกพยานให้พาไปที่บริษัทสำนักกฎหมายธรรมนิติ เพื่อทำธุระ เมื่อไปถึงผู้ตายก็เดินเข้าไปในบริษัทดังกล่าว โดยพยานนั่งรออยู่นอกห้อง ปรากฏว่า บริษัทสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ ตั้งอยู่ชั้น 4 อาคารนายเลิศทาวเวอร์ ถนนวิทยุ

คำเบิกความของพยาน ไม่ปรากฏว่า พยานขับรถยนต์พาผู้ตายไปหรือพากันนั่งรถแท็กซี่ แสดงว่า เมื่อถึงอาคารนายเลิศทาวเวอร์ พยานต้องพาผู้ตายเดินจากลานจอดรถหรือหน้าอาคารไปลิฟต์เพื่อขึ้นชั้น 4 แล้วเดินต่อไปที่บริษัทดังกล่าว ในขณะที่ผู้ตายอายุ 90 ปีเศษ มีโรคประจำตัว เดินทางไปพบแพทย์ตั้งแต่เช้า ออกจากโรงพยาบาลประมาณ 15.00 น. เดินทางกลับบ้าน แล้วออกจากบ้านโดยไม่ได้พักผ่อนเลย กรณีเป็นที่สงสัยว่า ผู้ตายสามารถเดินไปได้เองหรือไม่

4.การจัดทำพินัยกรรมให้แก่ลูกความของสำนักกฎหมายธรรมนิติที่โดยปกติจะจัดให้มีการบันทึกวิดิทัศน์และถ่ายภาพไว้ ซึ่งกรณีการทำพินัยกรรมคดีนี้ นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสำนักกฎหมายธรรมนิติ พยานจำเลย ผู้จัดทำพินัยกรรมให้แก่นายวิวรรธน์ได้เบิกความว่า เนื้อหาของพินัยกรรมมีการยกทรัพย์สินส่วนในในพินัยกรรมให้กับบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ทายาท พยานเกรงว่า อาจจะเกิดปัญหาฟ้องร้องกันในภายหลังได้ แต่สำนักกฎหมายดังกล่าวกลับมิได้จัดให้มีการบันทึกวิดิทัศน์และถ่ายภาพไว้ โดยอ้างว่า เป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว ทั้งๆที่มีการนัดหมายล่วงหน้าแล้ว

ขณะทำพินัยกรรม มี น.ส.ศจีมาส อภิชโยดม และนายสุทิน โชติสิงห์ ทนายความอยู่ด้วย แสดงว่า ในการทำพินัยกรรมมีการนัดหมายกันไว้ก่อนแล้ว และในวันดังกล่าวที่สำนักงาน นอกจากพยาน(นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์) แล้วยังมีเลขานุการของพยานและทนายความอีกสองคน พยานมีโอกาสทราบล่วงหน้าและสามารถเตรียมการหรือสั่งการให้มีการบันทึกวิดีทัศน์หรือถ่ายรูปขณะทำพินัยกรรมได้ ทั้งพยานก็เห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทำพินัยกรรมและโดยปกติสำนักงานจะบันทึกวิดีทัศน์และถ่ายรูปขณะทำพินัยกรรม แต่พยานซึ่งเป็นถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวกลับไม่ได้ดำเนินการให่้บันทึกวิดีทัศน์และถ่ายรูปขณะทำพินัยกรรมไว้ และวันนั้นเป็นวันสำคัญยิ่งกว่า วันที่ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับที่สำนักงานเขตราชเวทีซึ่งพยานสั่งให้มีการบันทึกวิดีทัศน์และถ่ายรูปไว้ด้วย

กรณีดังกล่าว จึงมีพิรุธว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2548 มีการทำพินัยกรรม จริงหรือไม่

5.นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสำนักกฎหมายธรรมนิติ พยานจำเลย เบิกความว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตายเคยทำพินัยกรรมไว้ฉบับหนึ่ง แต่ถูกญาติ ๆ ฉีกทำลาย ประสงค์ขอทำพินัยกรรมขึ้นอีกฉบับ โดยข้อความส่วนใหญ่มาจากข้อความที่ผู้ตายเขียนมาในร่างพินัยกรรม หากผู้ตายบอกพยานว่า พินัยกรรมฉบับเก่าถูกทำลายไปแล้ว ก็แสดงว่า ไม่มีพินัยกรรมที่ผู้ตายเคยทำไว้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆในพินัยกรรมฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2548 ข้อ 1 จะระบุข้อความว่า ข้าพเจ้ามีคำสั่งยกเลิกพินัยกรรมของข้าพเจ้าทั้งหมดทุกฉบับที่ข้าพเจ้าเคยทำมาก่อนหน้านี้และให้ถือตามคำสั่งของพินัยกรรมฉบับนี้เป็นสำคัญและถูกต้อง

6.หากผู้ตายทำพินัยกรรม ยกที่ดิน 3 ไร่ ต.ทุ่งวัดดอน และยกห้องชุดเลขที่ 3 G คอนโดมิเนียมการ์เด้นคลิฟ ให้แก่จำเลยถือเสมือนว่า จำเลยเป็นบุตรคนหนึ่ง มีความสนิทสนม ดูแลเอาใจใส่สวัสดิการของผู้ตายอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดบั้นปลายชีวิตจริง เหตุใดหลังจากผู้ตายทำพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายกลับโอนห้องชุดเลขที่ 469/34 การ์เด้นคลิฟ คอนโดมิเนียม อ.บางละมุงให้แก่จำเลยอีกโดยระบุให้อยู่ในการดูแลของผู้รับให้ ทั้งๆที่สามารถระบุไว้ในพินัยกรรมได้ ประกอบกับศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยให้เหตุผลรายละเอียดต่างๆไว้ชอบแล้ว

ดังนั้น พฤติการณ์เป็นพิรุธว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมวันที่ 21 ธันวาคม 2548 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม เป็นของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

 

ขอบคุณที่มาจาก>> isranews.org


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์