ลูกจ้างการรถไฟ ฮือปิด หัวลำโพง

รฟท.ว่าจ้าง บ.เอกชนทำความสะอาด


ลูกจ้างการรถไฟ ก่อเหตุประท้วงที่รฟท.จ้างบริษัทเอกชนเข้ามาทำความสะอาดขบวนรถแทน ใช้กฎหมู่ช่วยกันขนไม้หมอน มาวางขวางขบวนรถ ไม่ให้ออกจากสถานีหัวลำโพง สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสาร รถไฟนับพัน “บรรณวิทย์” รุดเจรจา ประสาน “รมว.ธีระ”เตรียมเปิดโต๊ะเจรจากับทุกฝ่าย ลูกจ้างจึงยอมเปิดทางให้ขบวนรถไฟผ่านไปได้ ด้าน “ศิวะ” ประธานบอร์ดรถไฟ เผยเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนให้ ผู้โดยสาร เป็นเพราะลูกจ้างสูญเสียเบี้ยเลี้ยงพิเศษ

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 1 ส.ค. ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง

ได้มีลูกจ้างเฉพาะงาน (ลูกจ้างชั่วคราว) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประมาณร้อยคน ได้ก่อเหตุประท้วงด้วยการนำเอาไม้หมอนรถไฟมาวางขวางรางรถไฟที่จะเข้าออกชานชาลาที่ 7-8-9 ทำให้ขบวนรถไฟ 3 ขบวนประกอบด้วย ขบวนรถเร็วกรุงเทพฯ-ยะลา, ขบวนรถชานเมือง กรุงเทพฯ-บ้านภาชี และขบวนรถดีเซลราง กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี ไม่สามารถเคลื่อนออกจากสถานีได้ตามเวลาปกติ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารนับพันคนที่จำเป็นจะต้องเดินทางกับขบวนรถดังกล่าว

ต่อมาเวลา 16.30 น. พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน


ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สนช.พร้อมด้วย นายบัญชา คงนคร รักษาการ ผู้ว่าการ รฟท.ได้เดินทางมาเจรจากับกลุ่มคนงาน ทราบว่า เดิมทีคนงานดังกล่าวมีหน้าที่ขึ้นไปทำความสะอาดบนขบวนรถไฟ มีรายได้ต่อเดือนคนละประมาณ 8 พันบาทเศษ แต่ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เอกชนแห่งหนึ่ง เข้ามาทำความสะอาดบนขบวนรถไฟแทน ส่วนลูกจ้างเฉพาะงานกว่า 200 คนจะต้องลงมาทำงานอื่น ๆ ที่ด้านล่าง ซึ่งจะถูกตัดรายได้ลง ทำให้ได้รับเงินเพียงเดือนละประมาณ 4 พันบาทเท่านั้น ทำให้กลุ่มลูกจ้างดังกล่าวไม่พอใจ และเคยนำเรื่องไปร้องเรียนผ่านรองประธานสหภาพแรงงานรถไฟ ซึ่งก็ได้รับปากไปแล้ว แต่เรื่องก็เงียบ จึงได้ก่อเหตุประท้วงขึ้น ดังกล่าว


ต่อมา พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ได้ติดต่อไปยัง พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม

ซึ่งได้แจ้งมาว่า พร้อมที่จะมาร่วมเจรจาโดยจะยึดผลประโยชน์ของลูกจ้างเป็นหลัก โดยในวันพรุ่งนี้ (2 ส.ค.) จะเรียกประชุมระหว่างบอร์ด รฟท. รมว. คมนาคม ตัวแทนคนงาน และบริษัทที่ได้รับจ้างใหม่ เพื่อเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน ทำให้กลุ่มคนงานพอใจ และช่วยกันนำไม้หมอนรถไฟออกจากราง ขบวนรถไฟสายต่าง ๆ จึงสามารถออกจากสถานีได้เมื่อเวลาประมาณเกือบ 18.00 น.

นายศิวะ แสงมณี ประธานบอร์ด รฟท. กล่าวว่า

รฟท.ยืนยันว่าไม่ได้เลิกจ้างคนงาน โดยหลังจากที่ รฟท.ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ก็ให้พนักงานไปทำหน้าที่อื่นแทน ส่วนสาเหตุที่ลูกจ้างเรียกร้องคือ ค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษเป็นรายชั่วโมง ที่เป็นรายได้ส่วนที่หายไป อย่างไรก็ตามไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพนักงานชั่วคราวของ รฟท.ที่ไม่ให้ขบวนรถ ไฟออกจากสถานี ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้โดยสาร และได้สั่งให้นายบัญชาตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาลงโทษพนักงานกลุ่มนี้ ต่อไป.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์