บุกพิสูจน์! จนท.พบ “โรงงานน้ำปลาร้า” ได้มาตรฐาน เจ้าของโอดแชร์มั่ว

บุกพิสูจน์! จนท.พบ “โรงงานน้ำปลาร้า” ได้มาตรฐาน เจ้าของโอดแชร์มั่ว

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่พิสูจน์ที่ผลิตน้ำปลาร้า ตรากาฬสินธุ์ โดยพบว่า ภาพที่นำมาแชร์บนโลกออนไลน์เป็นบ่อทิ้งกากปลาร้าที่ต้มแล้ว ที่รอการเอาไปกำจัดอย่างถูกวิธี พร้อมยืนยันว่า การผลิตปลอดภัย มีมาตรฐาน เพียงแต่ไม่ได้ขออนุญาตเท่านั้น

จากกรณีตำรวจศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจภูธรภาค 4 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ 

ได้เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 59 หมู่ 3 บ้านท่าเรือ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมกับยึดน้ำปลาร้าบรรจุขวด ซึ่งฉลากระบุรายละเอียดน้ำปลาร้า ตรากาฬสินธุ์ แม่อ้อยลำปาว และมีสัญลักษณ์เครื่องหมาย อย. แต่ไม่ได้ระบุเลขสารระบบอาหารบนฉลาก จำนวน 96,000 ขวด พร้อมกับแจ้งข้อหาไม่ขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหารและแสดงสลากไม่ถูกต้อง หรือ ไม่มีเลขที่ อย. ซึ่งมีการนำเสนอข่าวตามสื่อต่างๆ และมีผู้ถ่ายภาพซากปลา งู อึ่งอ่าง เศษเหล็ก ในบ่อทิ้งกากปลาร้าที่ต้มแล้ว หรือ บ่อเก็บของเสีย ไปโพสต์ในเฟชบุ๊กและแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ จนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

ล่าสุด นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่พิสูจน์ 

โดยพบว่า ภาพถ่ายที่มีซากปลา งู อึ่งอ่าง เศษเหล็ก เป็นภาพที่ถ่ายจากบ่อทิ้งกากปลาร้าที่ต้มแล้ว หรือเป็นบ่อเก็บของเสีย ที่รอการเอาไปทำปุ๋ยและรอการเอาไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ใช่บ่อที่นำไปทำปลาร้า นอกจากนี้ ยังพบโรงงานดังกล่าวมีขั้นตอนการผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีการแยกสัดส่วนการผลิตที่ชัดเจน เพียงแต่ไม่ได้ขออนุญาตเท่านั้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยืนยันว่า น้ำปลาร้าใน จ.กาฬสินธุ์ มีขบวนการผลิตที่สะอาดและยังสามารถรับประทานได้ปกติ

ด้าน นางนิพร ไวกูณฐอนุชิต เจ้าของกิจการปลาร้ากาฬสินธุ์ แม่อ้อยลำปาว 

ยืนยันว่า โรงงานถูกเจ้าหน้าที่จับ เนื่องจากไม่ขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหารและไม่มีเลขที่ อย. ซึ่งยอมรับผิด แต่รู้สึกเสียใจที่มีผู้ถ่ายภาพบ่อทิ้งของเสีย โดยไม่สอบถามแล้วไปเผยแพร่ในโลกออน์ไลน์ จนทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการนำกากเหล่านั้นมาต้มเป็นน้ำปลาร้า ซึ่งความจริงไม่มีใครที่จะต้มน้ำปลาร้าขายอย่างสกปรก

“เสียใจมาก เพราะเราไม่ได้ทำแบบนั้น แล้วก็เสียใจที่เขาไม่ถามอะไรเลย แต่เอาไปแชร์แบบนั้น เหมือนเขาหลอกลวงคนทั้งประเทศค่ะ คนทั้งประเทศจะคิดยังไง ที่ออกข่าวแบบนี้ มันไม่เป็นจริง โดยน่าจะถามก่อน คุยกันก่อนว่า พี่อันนี้มันอะไร เออ ถ้าบอกบ่อนี้เอาไปต้ม ค่อยแตกตูมกัน” นางนิพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการตรวจสอบ

 นายวินัยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานปลาร้าทุกแห่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้ความรู้และแนะนำวิธี รวมถึงขั้นตอนการผลิตและการขออนุญาต เพื่อที่จะรักษาอาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานับพันๆ ปี จนสร้างรายได้ให้กับประชาชนให้คงอยู่และมีมาตรฐานต่อไป



ขอบคุณข้อมูลจาก Spring News Logo

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์