โรงงานอาซาฮีประกาศเลิกจ้างคนงานนับพัน


 นัดประชุมด่วนรับมือแรงงานเลิกจ้าง "อภัย" การันตีสถานการณ์แรงงานยังไม่วิกฤติ นายกฯระบุค่าเงินบาทแข็งเพราะกระแสการลงทุนในเอเชีย ยันสถานการณ์ในประเทศไทยไม่เลวร้าย ย้ำรัฐบาลมีมาตรการดูแล แนะผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วย พร้อมย้ำเตือนนักลงทุนหุ้นระวังเป็น "แมลงเม่า"

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 กรกฎาคม นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงานพร้อมเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงานทั้ง 5 กรม ได้ลงตรวจสอบสภาพปัญหากรณีจะมีการเลิกจ้างในบริษัท สยาม อาซาฮี เทคโน กราส จำกัด ย่าน ต.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยนายจุฑาธวัช กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าขณะนี้บริษัทดังกล่าวจะเลิกจ้างพนักงานนับพันคนในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ได้เจรจากับนายจ้างเรียบร้อยแล้ว โดยใช้มาตรการเชิงรุกให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจะต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม นายจ้างรับว่าจะดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมีเงินสำรองจ่ายให้ลูกจ้างทุกคน

ปูนซิเมนต์รับ100คน-ตั้งโต๊ะรับอีก2พันคน

นอกจากนี้ กรมการจัดหางานยังได้ประสานกับโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงให้รับคนงานที่ตกงานของบริษัทนี้เข้าทำงาน ซึ่งเบื้องต้นบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย จะรับคนงานประมาณ 100 คนเข้าทำงาน พร้อมสั่งการให้จัดหางานจังหวัดชลบุรี จัดหางานรองรับตั้งโต๊ะรับสมัครคนงานที่เหลือในวันที่ 23-24 กรกฎาคม ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาคนว่างงาน เพราะมีตำแหน่งงานรองรับในพื้นที่กว่า 2,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ ได้เรียกประชุม 5 เสือกระทรวงแรงงาน ได้แก่ จัดหางานจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด และแรงงานจังหวัด ประชุมซักซ้อมมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ภายหลังค่าเงินบาทแข็งขึ้นส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่สภาองค์กรนายจ้างเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลดการเก็บเงินสมทบในส่วนของนายจ้างเพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายสูง ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า ในวันที่ 17 กรกฎาคม ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือที่ประชุมบอร์ด สปส. ซึ่งมาตรการที่เสนอมาเบื้องต้นอาจใช้วิธีชะลอการส่งเงินสมทบไปก่อน

สั่ง5จังหวัดปริมณฑลรองรับแรงงาน

กรณีปัญหาบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ลูกจ้างมีความเชื่อมั่นในการกลับเข้าทำงาน เพราะทำงานร่วมกันมานาน ทั้งนี้ จะใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์เข้าไปช่วยบริหารงาน เพื่อให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมแก้ปัญหา กรณีบริษัทไทยศิลป์ฯ ถือเป็นการใช้ระบบไตรภาคีเข้าไปแก้ปัญหาเต็มรูปแบบ และได้ให้นโยบายกรมต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ทำงานแบบบูรณาการ โดยให้กรมการจัดหางานสำรวจจำนวนงานในจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะ 5 จังหวัดปริมณฑล ไว้รองรับกรณีมีการเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า สถานการณ์ขณะนี้ โรงงานสิ่งทอยังขาดแคลนคนงาน และต่อไปกระทรวงแรงงานจะต้องเร่งติดตามวิเคราะห์ผลกระทบจากเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัว เพื่อเกาะติดสถานการณ์ด้านแรงงาน

ยันจ้างงานใหม่มากกว่าเลิกจ้าง

นายอภัย กล่าวอีกว่า จากการนำเสนอตัวเลขการเลิกจ้างตามสื่อมวลชน โดยอ้างถึงข้อมูลสำนักงานประกันสังคมนั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลการเลิกจ้างจริง แต่ในข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลด้านเดียว จำเป็นต้องนำข้อมูลการขอทำประกันสังคมหรือการจ้างงานใหม่เข้ามาหักลบ ซึ่งการจ้างงานใหม่มากกว่าการเลิกจ้าง

ขณะที่ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สถิติของสำนักงานประกันสังคม พบว่า ในการเลิกจ้างแต่ละครั้ง ก็จะมีสถานประกอบการจดทะเบียนใหม่ ซึ่งข้อมูลตั้งแต่ปี 2548-2550 มีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การจ้างงานใหม่มีมากกว่าการเลิกจ้าง และพบว่ามีสถานประกอบการเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2548 มีประมาณ 3.5 แสนโรงงาน ปี 2549 จำนวน 3.7 แสนโรงงาน และปี 2550 จำนวน 379,000 โรงงาน ส่วนการค้างจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง พบว่าปัจจุบันคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 3 โดยประกันสังคมมีระเบียบไม่ให้การค้างจ่ายเงินสมทบเกินร้อยละ7

นายกฯย้ำเศรษฐกิจเรายังมั่นคง

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ถึงกรณีสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องว่ า ได้คุยกันเรื่องความเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไป เนื่องจากมีกระแสของการลงทุนมาทางเอเชียค่อนข้างมาก เพราะฐานเศรษฐกิจทางเอเชียมีการขยายตัวมาก ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่เลวร้ายอะไร ในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเห็นว่า มีทุนจากต่างประเทศเข้ามา เมื่อเข้ามามากก็ทำให้เงินบาทออกไปนอกประเทศ จากกรณีนี้ รัฐบาลดูแลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตนเข้ามาทำงานมีแนวโน้มที่ค่าของเงินจะแข็งตัวขึ้นมาตั้งแต่ต้นแล้ว จึงวางมาตรการและเตรียมการต่างๆ ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากจนเกินไป จนมีผลกระทบ ซึ่งเศรษฐกิจของเรายังมั่นคง ยังดีอยู่

“เหมือนกับร่างกายของคนเรา ถ้าอุณหภูมิหรือมีไข้สูงมาก ลดลงเร็วมาก ขึ้นมาสูงมาก ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ดี ง่ายๆ ก็เป็นอย่างนั้น คือ ทำอย่างไรที่จะมีมาตรการ ทั้งในด้านการดูแลค่าของเงิน การดูแลองค์กรต่างๆ ในแต่ละภาคส่วน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ให้มีผลกระทบมากนัก เราจะพยายามรักษาตรงนี้ อย่างกรณีโรงงานสิ่งทอที่ประกาศว่าจะปิดโรงงาน เมื่อได้หารือกันแล้ว ขณะนี้ก็เปิดทำงาน และทางสมาคมสิ่งทอจะเข้าไปช่วยดูแล ภาครัฐจะเข้าไปดูแลเช่นกัน ในด้านเศรษฐกิจซึ่งมองเห็นว่า อาจจะมีปัญหาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ การที่เข้าไปดูแลหมายถึงว่า ช่วยให้สามารถปรับตัวต่อไปในโอกาสข้างหน้าได้ เพราะการแข่งขันทางการค้า ทางเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องปรับตัว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นักลงทุนยังเชื่อมั่น-เอกชนต้องปรับตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศอย่างไร เพราะค่าเงินบาทยังแข็งอยู่ และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ นักลงทุนอาจหนีไปลงทุนในประเทศเวียดนาม หรือจีน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นบางส่วนเท่านั้นเอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนไปเปิดโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเหล็ก โดยบริษัทของอิตาลี เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทย และบริษัทนี้ได้ชี้แจงว่า เหตุใดถึงมาตั้งโรงงานอยู่ที่ไทย เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องค่าแรงงานเพียงอย่างเดียว เช่น ไทยมีความพร้อมทางด้านของการขนส่ง

ส่วนการที่นักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น กันเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการลงทุน เป็นข้อตกลงของธนาคารแห่งประเทศไทย กับญี่ปุ่น เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะญี่ปุ่น มีประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้มานานพอสมควร และจากบทเรียนของปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนตัวมาก และอ่อนตัวเร็ว แต่ในขณะนี้ เงินบาทแข็งตัว ก็ได้พยายามที่จะรักษาไม่ให้แข็งตัวเร็วจนเกินไป ส่วนเรื่องตลาดทุนที่มีกระแสจากทางตะวันตกมาทางตะวันออก ญี่ปุ่นกับไทยอาจจะอยู่ในฐานะที่ใกล้กัน หมายถึงว่า เป็นตลาดการเงินที่ค่อนข้างเปิด อย่างจีน เวียดนาม เขาควบคุมชัดเจน เป็นตลาดที่ยังไม่ได้เปิด เพราะฉะนั้น มาตรการทางการเงินไม่เหมือนกัน ผู้ประกอบการในประเทศต้องรู้จักปรับตัว

เตือนนักลงทุนไทยระวังเป็นแมลงเม่า

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การดำเนินธุรกิจส่วนที่มีปัญหาขณะนี้ มีเพียงส่วนของสิ่งทอที่มีปัญหา ส่วนภาคอื่นๆ มีมาตรการมารองรับในส่วนนี้ค่อนข้างจะกว้างขวางพอสมควร สิ่งที่เป็นตัวช่วยคือ เมื่อเงินบาทแข็ง ก็ได้สั่งซื้อน้ำมันดิบเข้ามา ส่วนนี้จะลดลง เพราะมีตัวถ่วงและก็มีตัวช่วยเช่นเดียวกัน ส่วนภาคเกษตรได้หาทางที่จะช่วยเหลือในเรื่องของส่วนเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ส่งออกจะต้องมีการปรับตัว การปรับตัวที่ว่านี้มีหลายอย่าง อย่างที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูล คือ ผู้ส่งออกจะไปซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าไว้ โดยบางครั้งซื้อขายเกินเงินที่ตัวเองมีอยู่ กลายเป็นเก็งกำไรไปต้องระวัง เพราะมาตรการการซื้อขายล่วงหน้าเป็นตัวช่วย ส่วนผู้ส่งออกด้านอื่นๆ เมื่อไปซื้อขายเงินล่วงหน้า สมมติว่า 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้าแล้ว จะมีผลอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่พ่อค้าส่งออกรายใหญ่ๆ เขามีตัวช่วยอยู่แล้ว

“การลงทุนในตลาดหุ้น เราได้จำกัดเพดานอยู่แล้วในแต่ละวันว่าได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เราคงดูในส่วนนี้ สิ่งที่ผมอยากจะเรียนเตือนนักลงทุนไทย คือ อย่าผลีผลาม เพราะว่าในเรื่องของตลาดหุ้น มีคำพูดกันอยู่แล้วว่า แมลงเม่า ตรงนี้ต้องระวัง เพราะรัฐบาลพยายามแนะนำในเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็มาอยู่ตรงนี้ว่า ความมีเหตุผล เรามีความไม่ประมาทไหม เรามีทางที่จะป้องกันตัวเราเองอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือ ได้นำแนวทางให้เราได้พิจารณาว่า อย่าเล็งผลเลิศจนเกินไป หาจุดที่มีเหตุผล มีความพอเพียง ในการที่จะลงทุนหรือไม่ลงทุน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเมือง โดยด้านเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน เมื่อส่งงานให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้ไม่มีปัญหามากมาย ยืนอยู่บนพื้นฐานที่ค่อนข้างจะดี ทางด้านการเมืองก็เช่นกัน เราก้าวมาไกลพอสมควร อีกไม่กี่วันจะลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านไปได้จะเห็นชัดว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองนั้นจะค่อยๆ ก้าวไปสู่การเลือกตั้ง และจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ถ้าเราสามารถดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ ตามเป้าก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย นั่นคือ สิ่งที่เราสามารถที่จะส่งการบริหารบ้านเมืองของเรา ซึ่งอยู่ในสถานะมีการวางรากฐานที่ดีพอ และสามารถที่จะไปต่อยอดให้มีความยั่งยืนต่อไปได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์