ต้นเหตุมหาอุทกภัยจีน ผลจากมลพิษในอากาศ!

ต้นเหตุมหาอุทกภัยจีน ผลจากมลพิษในอากาศ!

มติชนรายวัน
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558


ฟ่าน จี้เหวิน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสภาพในชั้นบรรยากาศชาวอเมริกันเชื้อสายจีน 

ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในมณฑลเสฉวนของจีน เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2013 ที่เกิดจากภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน ด้วยปริมาณฝน 730 มิลลิเมตร โดยวันที่ตกหนักมากที่สุดมีปริมาณฝนสูงถึง 290 มิลลิเมตรนั้น ไม่ได้เกิดจากภาวะอากาศปกติธรรมดา เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะน้ำท่วมและไหล่เขาถล่มมากถึง 200 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 300,000 คน สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน โรงงาน สะพานต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ดร.ฟ่าน ผู้เชี่ยวชาญภูมิอากาศและมลพิษในอากาศ ประจำห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 

ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองริชแลนด์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวจีน, อเมริกัน และอิสราเอล ช่วยกันสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อทดสอบสมมุติฐานของตนว่าเป็นความจริงหรือไม่ สมมุติฐานดังกล่าวก็คือ ภาวะมลพิษทางอากาศในเสฉวนที่ได้ชื่อว่าหนักหนาสาหัสที่สุดแห่งหนึ่งในจีน อันเป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศูนย์ใหญ่อยู่ในมณฑลนี้ น่าจะมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงครั้งนั้นขึ้น

ผลงานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในจดหมายเหตุวิจัยเชิงธรณีฟิสิกส์เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สมมุติฐานของ ดร.ฟ่านมีความเป็นไปได้จริง และเป็นการแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่ามลพิษนั้นส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิดกันไว้มากนัก

เพื่อพิสูจน์สมมุติฐาน ทีมวิจัยของ ดร.ฟ่านสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้น 2 แบบ แบบแรกอาศัยข้อมูลสภาวะมลพิษในอากาศย้อนหลังไปเมื่อ 40 ปีก่อนหน้านี้ 

เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจจีนยังไม่บูม อากาศในเสฉวนยังสดใส จากแบบจำลองดังกล่าวนี้ เมื่อสภาพอากาศชื้นที่ปกคลุมพื้นผิวที่มีสภาพเหมือนเเอ่งกระทะแวดล้อมด้วยทิวเขาของมณฑลเสฉวนถูกแดดร้อนแผดเผาในเวลากลางวัน ก็จะลอยตัวขึ้นสู่ระดับสูง ปะทะกับอากาศเย็นด้านบนก่อตัวเป็นเมฆฝนและตกลงมาเป็นฝนในตอนกลางวันตามวัฏจักรปกติ

แต่ในแบบจำลองแบบที่สอง ซึ่งใช้ข้อมูลมลพิษในปัจจุบัน ทีมวิจัยพบว่ามลพิษที่มีสารแขวนลอยอยู่ในอากาศสูงและกลายเป็นหมอกควันหรือสม็อกในท้องฟ้า 

ปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องลงมายังพื้นผิวดินที่อยู่ในสภาพเย็นต่อเนื่องในตอนกลางวัน เปลี่ยนโครงสร้างของสภาวะอากาศและป้องกันไม่ให้เกิดฝนตก แต่เมื่อค่ำมืด มวลอากาศชื้นเคลื่อนตัวขึ้นเหนือไปสู่เทือกเขาหลงเหมินที่มีความสูงราว 2,000 เมตรเหนือพื้นดิน ปะทะเข้ากับอากาศเย็นจัดเหนือเทือกเขาทำให้เกิดฝนตกหนักมากในช่วงเวลาสั้นๆ แทนที่จะค่อยๆ ตกเรื่อยๆ ตลอดทั้งวันเหมือนในแบบจำลองแบบแรก นอกจากนั้นสภาพพื้นที่ไหล่เขาและเนินเขาทำให้มวลน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักไหลบ่ารุนแรงลงมาสู่พื้นที่ราบเบื้องล่าง ก่อให้เกิดอุทกภัยและดินถล่มตามมาในที่สุด

ดร.ฟ่านเชื่อว่าสภาพเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ไม่จำเพาะแต่ในเสฉวน และเชื่อว่า ภาวะน้ำท่วมหนักที่เกิดในปากีสถานในอีกหนึ่งเดือนหลังจากเหตุอุทกภัยในเสฉวนก็น่าจะเกิดขึ้นในแบบเดียวกัน นั่นคือเกิดจากศูนย์อุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ที่มีเทือกเขาสูงประกอบอยู่ด้วย

ติง อ้ายจุน นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยนานจิง ประเทศจีน ชี้ว่า แบบทดลองของ ดร.ฟ่านน่าเชื่อถือและแสดงให้เห็นประเด็นสำคัญ

 ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์จากการสังเกตในสถานการณ์จริงของตนเอง เมื่อปี 2012 โดยเขาสังเกตเห็นว่า ทั้งอุณหภูมิและปริมาณฝนตกลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อเกษตรกรแถบนอกเมืองนานจิงลงมือเผาไร่นาหลังการเก็บเกี่ยวกันเป็นจำนวนมาก ควันที่เต็มไปด้วยเขม่าปกคลุมทั่วเมืองในเดือนมิถุนายนปี 2012 ทำให้การพยากรณ์อากาศที่ระบุว่าจะเกิดฝนฟ้าคะนองในเมืองไม่เกิดขึ้นจริง แต่กลับไปเกิดเป็นฝนตกหนักมากกว่าที่พยากรณ์ไว้ในคืนวันเดียวกัน

ติง อ้ายจุน เห็นพ้องกับ ดร.ฟ่านที่ว่า ควรนำเอาสม็อกและควันพิษจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไร่นาหรือจากไฟป่ามาเป็นปัจจัยในการพยากรณ์อากาศในอนาคต

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์