เป็นไปได้! เงินหายกว่า5ล. ถูกโอนจากบัญชีทั้งที่ใช้‘โทเคน’

เป็นไปได้! เงินหายกว่า5ล. ถูกโอนจากบัญชีทั้งที่ใช้‘โทเคน’



ผัวเมียสุดช็อก เงินในบัญชีธนาคารหายไปกว่า 5 ล้าน ตรวจพบมีการโอนไปปลายทางต่างประเทศ 2 ครั้ง ทั้งที่ใช้ ‘โทเคน’ อุปกรณ์ไฮเทคที่มีชุดรหัสผ่านป้องกันการโจรกรรมข้อมูล แจ้งตำรวจ พร้อมถอนเงินที่เหลืออีกว่า 8 ล้าน ไม่ใว้ใจกลัวโดนอีก...


เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 30 มิ.ย. นายสมเจตน์ อัจฉริยะชาญวณิช อายุ 41 ปี และนางอรนุช งามวิชัยกิจ อายุ 44 ปี เจ้าของบริษัทรุ่งโรจน์ อาร์วาย จำกัด

 เลขที่ 17/4 ถนนสุขุมวิท ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง สองสามีภรรยาเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.เกรียงไกรวุธ บัวกล้า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองระยองว่า บริษัทตนขายโทรศัพท์มือถือ และขายบัตรเติมเงินรายใหญ่ ส่งทั่วภาคตะวันออก ทำธุรกิจมาตั้งแต่ ปี 2535

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องมาแจ้งความในวันนี้ เนื่องจากได้ตรวจสอบบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาระยอง

 พบว่าเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา มีการโอนเงิน ไปปลายทางที่ต่างประเทศ ระบุชื่อผู้รับ ‘พูเดซีร่า’ เป็นเงิน 2,800,000 บาท (สองล้านแปดแสนบาท) พอวันที่ 26 มิ.ย.58 มีการโอนไปอีก 2,750,000 บาท (สองล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นบาท) ชื่อคนที่รับโอนคือ ‘พานทาแฮม’ รวม 2 ครั้งกว่า 5 ล้านบาท

สองผัวเมียกล่าวด้วยว่า บริษัทของตน ได้เปิดบัญชีใช้บริการด้านการเงินกับธนาคาร เป็นลูกค้าเกรดเอ การโอนทางอินเทอร์เน็ต

 ทางธนาคารได้ให้ ‘โทเคน’ เป็นรหัสประจำเพื่อจะทำรายการไปยังลูกค้าที่ต้องการโอน แต่ทำไมจึงมีรายการโอนเงินไปต่างประเทศจำนวนมากเหมือนกับว่า ‘โทเคน’ มี 2 อัน หรือถูกขโมยข้อมูลเอาไป จนเกิดความเสียหาย จึงมาแจ้งความเพื่อขอให้มีการตรวจสอบ และความรับผิดชอบจากทางธนาคาร ซึ่ง พ.ต.ท.เกรียงไกรวุธ ได้รับแจ้งความลงบันทึกประจำไว้เป็นหลักฐาน และจะนำรายละเอียดไปสอบถามกับทางธนาคารต่อไป

ต่อมา นายสมเจตน์ ได้เดินทางไปยังธนาคารเพื่อขอทราบรายละเอียด และขอให้รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่า จะต้องให้ผู้รับผิดชอบการบริการในระบบนี้เป็นผู้ตรวจสอบ นายสมเจตน์ จึงได้ขอถอนเงินที่เหลือของบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 8 ล้านบาท เพื่อรอการดำเนินการของธนาคาร ว่าจะรับผิดชอบหรือไม่อย่างไร

สำหรับโทเคน (Token) คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพา มีหน้าที่ในการสร้างชุดรหัสผ่าน

ในการเข้าใช้งานระบบการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริการ Internet Banking โดยที่ไมโครชิพที่ฝังอยู่ภายในอุปกรณ์จะมีการเก็บค่าชุดรหัสไว้ในตัว และทำงานสอดคล้องกับระบบที่ทางธนาคารตั้งไว้เป็นเอกเทศสำหรับผู้ใช้งานแต่ละรายที่เป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจ หรือผู้ที่ใช้งานตามที่ธนาคารกำหนด

โดยเมื่อกดปุ่ม 1 ครั้ง อุปกรณ์จะแสดงชุดเลขรหัสผ่านจำนวน 6 หลัก เพื่อให้ผู้ใช้งานนำไปใส่ค่ารหัสผ่าน

สำหรับเข้าสู่ระบบการทำงานและการทำธุรกรรมด้านการเงินทุกครั้ง ซึ่งเป็นการเสริมความปลอดภัย ปกป้องข้อมูลด้านการเงิน และป้องกันอันตรายจากการลักลอบโจรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการลักขโมยรหัสผ่าน ตราบใดที่ผู้ใช้งาน ยังมี Token อยู่กับตัว เพราะระบบจะไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรมใดๆ โดยไม่มีการกรอกรหัสผ่าน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์