คลื่นยักษ์ 12 เมตรจากขั้วโลกใต้เคลื่อนตัวเข้าหาไทย ชี้ข้อดี อาจช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อน

คลื่นยักษ์ 12 เมตรจากขั้วโลกใต้เคลื่อนตัวเข้าหาไทย ชี้ข้อดี อาจช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อน

คลื่นยักษ์ 12 เมตรจากขั้วโลกใต้เคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย รอยลชี้ ช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อน จับตาสะพานมอญ กลัวพังอีกรอบ ชี้ไคลเมทเช็นจ์ ทำพฤติกรรมฝนเปลี่ยน ทุกพื้นที่ต้องทำแหล่งน้ำสำรอง กันแย่งน้ำ
 
วันที่ 23 มิถุนายน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)


เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ที่บริเวณกลางทะเลในขั้วโลกใต้ได้เกิดคลื่นสูงขนาด 10-12 เมตร โดยคลื่นลูกดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ ไคลเมท เช็นจ์ จากการตรวจสอบ พบว่า คลื่นลูกนี้กำลังเคลื่อนที่ไปใน 2 ทิศทาง คือ เคลื่อนที่อ้อมทางด้านใต้ของทวีปออสเตรเลีย แล้ววกเข้าทางมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทิศทางหนึ่งคือ เคลื่อนที่มาทางมหาสมุทรอินเดีย เข้ามาทางภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยจะหอบเอาความชื้น และฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาพร้อมกัน โดยลมมรสุมดังกล่าว จะเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคตะวันตก ซึ่งจะส่งผลให้ จ.ระนอง  กาญจนบุรี และ จ.ตาก เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมากติดต่อกัน

"จากการคำนวณเบื้องต้น พบว่า หลังจากวันนี้ นับไปอีกประมาณ 2-3 วัน คลื่นลมดังกล่าวจะเข้ามาถึงประเทศไทย ถามว่า มีอะไรน่าวิตกกังวลหรือไม่ ผมว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า เพราะน้ำฝนที่ตกลงมาอาจจะไปช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ได้ โดยความจริงแล้ว การเกิดคลื่นใหญ่ในขั้วโลกมักจะเกิดขึ้นทุกปี โดยปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ปีนี้ เกิดเอาปลายเดือนมิถุนายน ถือว่าล่าช้าไปมาก น่าจะเป็นเพราะ ปีนี้เป็นปีเอลญีโญอากาศค่อนข้างร้อนจัด"นายรอยล กล่าว
 
ผู้อำนวยการสสนก.กล่าวว่า เมื่อราวปี 2554 คลื่นลูกเดียว จากแหล่งกำเนิดเดียวกันนี้ เข้ามาในประเทศไทย และได้สร้างความเสียหาย

 โดยทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี โดยในตอนนั้นทำให้สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ ในครั้งนี้ เวลานี้บริเวณเดียวกันเริ่มมีฝนตกบ้างแล้ว แต่คาดว่าจะหนักอีกทีช่วงวันที่ 25 มิถุนายน เป็นต้นไป
 
เมื่อถามว่า ความสูงของคลื่นที่สูงถึง 10-12 เมตร ที่เคลื่อนที่เข้าทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยนั้น จะสร้างความเสียหายมากแค่ไหน

 นายรอยล กล่าวว่า ความสูงของคลื่น 10-12 เมตร นั้น จะสูงบริเวณจุดกำเนิด คือ กลางทะเลในบริเวณขั้วโลกใต้ ยิ่งคลื่นมีความสูงมากเท่าใด ที่มีกำลังแรง และจะหอบนำเอาความชื้นมาได้เยอะ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลของลมมรสุมในทิศทางที่คลื่นนั้นเคลื่อนที่ไป ซึ่งขนาดความสูงดังกล่าวนี้มีแรงส่งและพลังค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเคลื่อนที่เข้าใกล้ฝั่ง ความสูงของคลื่นก็จะลดลงตามลำดับ อาจจะอยู่แต่ 2 เมตร เท่านั้น แต่อิทธิพลที่เหนี่ยวนำเอาลมมรสุมเข้ามานั้นไม่ได้ลดลงเหมือนความสูงของคลื่น
 
นายรอยลกล่าวถึงปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ เวลานี้ ว่า ความจริงแล้ว การขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานเท่านั้น โดยระบบชลประทานนั้นจะต้องพึ่งพาน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ เมื่อเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำให้ได้ก็มีปัญหา

"ก่อนหน้านี้ เราเคยเสนอแล้วว่า นับแต่นี้โลกจะเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ฤดูกาล รวมทั้งการเกิดฝนตกนั้นไม่มีความแน่นอน ดังนั้นทุกพื้นที่การเกษตรจะต้องทำแหล่งน้ำสำรองเอาไว้ใช้ จะพึ่งพาระบบชลประทานอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายหมู่บ้านตอบรับกับข้อเสนอดังกล่าว มีการระดมกำลังจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะทหารช่างเข้าไปขุดบ่อน้ำทำแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำสำหรับทำการเกษตรเลย ผมเห็นว่าต่อไป เราจะต้องเตรียมการเรื่องแหล่งน้ำสำรองเอาไว้สำหรับทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดน้ำและแย่งน้ำกันใช้อีก" นายรอยล กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์