ร้านอาหารเฮเปิดเพลงได้ แต่ต้องแผ่นแท้

ร้านอาหารเฮเปิดเพลงได้ แต่ต้องแผ่นแท้

หลากมุมมอง “ฏีกา” ยกฟ้องร้านอาหารเปิดเพลงไม่ผิดกม.ลิขสิทธิ์ หากไม่แสวงหากำไรเพิ่ม “ทนาย” ชี้ช่อง “ฎีกาไม่ละเอียด” หากมีหลักฐานใหม่คดีพลิกได้ พร้อมแนะให้เปิดแผ่นแท้ ขณะที่ “ศิลปิน” ให้ดูที่เจตนา ส่วนผู้ประกอบการชูรักแร้หนุน

กรณีโลกสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ที่เกี่ยวข้องกับ "ร้านอาหาร" ที่เปิดเพลงอันมีลิขสิทธิ์ให้ลูกค้าฟัง

และถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ฟ้องร้อง ซึ่งหากไม่ได้แสวงหาผลกำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงไม่เป็นความผิด โดยตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง ประเทศวินิจฉัยว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

ทนายชี้ช่อง “ฎีกาไม่ละเอียด” มีหลักฐานใหม่คดีพลิกได้

ต่อ กรณีดังกล่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้สอบถามไปยังนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความชื่อดัง (@tanaiwirat) ได้อธิบายรายละเอียดไว้น่าสนใจว่า คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ในการพิจารณาคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากผู้ใดที่ประกอบกิจการร้านอาหาร เปิดเพลงภายในร้านเพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ที่มาใช้บริการฟัง แต่ไม่ได้เป็นการแสวงหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่าไม่เป็นความผิด ส่วนกรณีที่ศิลปินนำบทเพลงของตนเองมาขับร้องตามสถานที่ต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งลิขสิทธิ์บทเพลงยังคงเป็นของต้นสังกัด จำเป็นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับทางต้นสังกัด ซึ่งหากนำมาร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้ แต่มีข้อยกเว้น สามารถเปิดเพลงโดยไม่ต้องขอลิขสิทธิ์แก่ต้นสังกัด หากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้เสียชีวิตไปแล้ว และหลังจากนั้น 50 ปี ใครจะนำมากระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สุดแล้วแต่ อาทิ เพลงของเพลงคลาสสิก เพลงโมสาร์ท หรือบีโทเฟน

“แม้จะใช้ฎีกานี้เป็นบรรทัดฐานพิจารณาคดี จริง แต่ฎีกาอาจยังไม่ละเอียดมากพอ หากทนายของโจทก์สามารถหาหลักฐาน พิสูจน์ให้เห็นว่า การเปิดเพลงเป็นการแสวงหากำไรโดยตรง เนื่องจากหากร้านอาหารไม่เปิดเพลง ลูกค้าจะเข้ามาใช้บริการหรือไม่ หรือความไพเราะของเพลงที่เปิด ก็สามารถเชิญชวนให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้เช่นกัน ซึ่งคดีก็อาจจะพลิกได้”ทนายความรายนี้กล่าว

แนะร้านอาหารให้เปิดเพลงจากแผ่นแท้

ด้าน นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ วิทยากรฝึกอบรบกฏหมายแรงงาน ให้ข้อมูลกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า คำว่า “ไม่เป็นความผิด” ร้านอาหารต้องเปิดเพลงจากแผ่นแทนที่มีลิขสิทธิ์ ไม่ใช่แผ่นที่ทำซ้ำหรือดัดแปลง (แผ่นก็อป, แผ่นไรท์) ซึ่งส่วนใหญ่การดำเนินคดีที่ผ่านมา จะเป็นร้านอาหารตามข้างทาง หรือเป็นร้านข้าวต้มโต้รุ่ง แต่หากสามารถหาหลักฐานหรือพิสูจน์ได้ว่า ขณะลูกค้านั่งรับประทานอาหารพร้อมกับร้องเพลงไปด้วย แล้วทางร้านเรียกเก็บเงินค่าร้องเพลงจากลูกค้า จะถือว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 และ 70 ต้องระวางโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 5หมื่น ถึง 4 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

“แต่เป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ โดยใช้หลักทางภาษากฏหมายที่ว่า 'เคารพเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา' โดยทั้งโจทก์และจำเลยจะต้องตกลงกันเพื่อไม่ให้เรื่องดำเนินคดีขึ้นสู่ศาล เป็นอันสิ้นสุด”นายเดชากล่าว

ศิลปินให้ดูเจตนา “ถ้าผลงานดีไร้คนฟังก็เท่านั้น”

อย่าง ไรก็ตาม “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้พูดคุยกับ 'แต๊ก-วิชย วงศ์สุริยัน' ศิลปินอิสระ ที่เป็นที่รู้จักจากการเข้าแข่งขันเวทีเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ ฤดูกาลที่ 1 ซึ่งเจ้าตัวมองว่า ผลงานเพลงก็เหมือนเป็นศิลปะชิ้นหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และต้องเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ในฐานะผู้สร้างสรรค์เพลง ก็สามารถแสดงถึงความเป็นเจ้าของได้ แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์ผลงานไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็ไม่ควรจะเรียกร้องอะไรเพิ่ม มองว่า 'น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า' ถ้าผลงานดีแต่ไม่มีคนฟังก็เท่านั้น ส่วนถ้ามองในฐานะผู้เสพศิลปะ ก็ถือว่าเป็นการช่วยเผยแพร่ผลงานศิลปะอีกทางหนึ่ง แต่ก็ต้องดูว่าได้ล้ำเส้นของคนที่สร้างสรรค์ผู้งานหรือเปล่า เพราะถ้าหากำไรเข้าตัวเอง ผู้สร้างสรรค์ผลงานก็หมดกำลังใจได้เช่นกัน

"คุณ แต่งเพลงสู่สังคมแล้ว ถ้าเปิดในร้านเฉยๆ ก็ต้องดูเจตนาว่าเพื่อต้องการเสพงานของคุณโดยไม่เอากำไรหรือทำให้คุณเสื่อม เสีย ก็ต้องเปิดใจยอมรับ แต่ส่วนตัวมองว่าดีเสียอีกที่มีคนชื่นชอบผลงานของตัวเอง และนำไปเปิดตามที่ต่างๆ" แต๊กกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่นักร้องโกอินเตอร์ บอลลีวูด 'แอน มิตรชัย' แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ถ้าทางร้านอาหารซื้อแผ่นเพลงมาถูกลิขสิทธิ์ก็ไม่เป็นอะไร การเปิดเพลงในร้านจำเป็นต้องขอด้วย หรือไม่ ก็ต้องดูต้นสังกัดของแต่ละแห่ง ว่าเขาจะมองอย่างไร แต่ตนมองว่า การเปิดเพลงก็เหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์เพลงไปในตัว อย่างตนก็ยังอยากให้ทางสถานีวิทยุเปิดเพลงของตน ทั้งนี้หลังจากตนเริ่มทำงานด้านเพลง ก็เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงมากยิ่งขึ้น เพราะจะได้เข้าใจว่า อะไรเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์บ้าง รวมถึงกำลังจะพูดคุยกับบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย

ผู้ประกอบการหนุน ไม่ควรเอาผิดถ้าไม่ได้เพิ่มผลกำไร

สำหรับ ความคิดเห็นของผู้ประกอบการในเรื่องดังกล่าว เจ้าของร้านอาหารย่านลาดกระบัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางร้านได้มีการทำเรื่องขออนุญาตเปิดเพลงจากค่ายต่างๆ ซึ่งจะเสียค่าลิขสิทธิ์เป็นรายปีและมีค่าใช้จ่ายในราคาที่สูงพอควร แต่กรณีการเปิดเพลงจากยูทูป ไม่ควรเอาผิดเอาผิดกับผู้ประกอบการในเรื่องนี้ เพราะเหตุที่ทางร้านเลือกเปิดผ่านช่องทางดังกล่าว เพราะสะดวก ค้นหาง่าย และไม่ได้เอาเรื่องการเปิดเพลงหรือการขอเพลงมาคิดเงินเพิ่มกับลูกค้า ส่วนกรณีการจ้างนักร้องมาร้องเพลง ทางร้านยังไม่เคยโดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ สรุปคือการเปิดเพลงจากแผ่นหรือจากยูทูป ไม่ได้เป็นการเพิ่มผลกำไรให้ผู้ประกอบการแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการสร้างความบันเทิงให้ลูกค้าเท่านั้น

ส่วนผู้ประกอบการ ร้านอาหารกึ่งผับชื่อดัง ย่านพหลโยธิน กล่าวว่า การเลือกเพลงมาเปิดที่ร้านส่วนใหญ่ ร้านจะเลือกเพลงสากล ไทยสากล หรือแจ๊ส ซึ่งเป็นเพลงที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของร้าน โดยจะมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่ออนุญาตเปิดเพื่อป้องกันการฟ้อง แต่ไม่ได้นำเรื่องลิขสิทธิ์มาบวกเพิ่มกับค่าอาหารหรือบริการของลูกค้า ส่วนในกรณีจ้างนักร้องมาร้องเพลงที่ร้าน ทางร้านจ่ายแค่ค่าตัวของศิลปินเท่านั้น ซึ่งตัวศิลปินเองก็ไม่ได้เรียกร้องขอเพิ่มค่าลิขสิทธิ์เพลง เนื่องจากเป็นเพลงของศิลปินเอง และไม่เคยถูกทางค่ายฟ้องในกรณีนี้เช่นกัน


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์