เตือนภัยห้ามเปิปปักเป้าทุกชนิดฤดูวางไข่

เตือนภัยห้ามเปิปปักเป้าทุกชนิดฤดูวางไข่

“กรมประมง เตือนภัย ห้ามประชาชนบริโภคปลาปักเป้าทุกชนิด ชี้ช่วงนี้เป็นฤดูวางไข่พิษรุนแรงสุดเสียชีวิตทันทีภาย10-15 นาที แถมพิษสามารถทนความร้อนได้ถึง 170 องศา ขู่ลอบขายเจอโทษหนักคุก6เดือนปรับ2หมื่นบาท”

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าหลังจากที่มีชาวบ้านกินปลาปักเป้าแล้วเสียชีวิตนั้น

ขอแจ้งให้ทราบว่าห้ามบริโภคปลาปักเป้าทุกชนิดโดยเฉพาะช่วงนี้ที่อยู่ในฤดู วางไข่ ซึ่งพิษของปลาปักเป้าจะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ด้วย ทั้งนี้ปลาปักเป้าที่พบในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิดเป็นปลาปักเป้าน้ำเค็มและน้ำกร่อย

“ใน ช่วงนี้จะพบปลาปักเป้าที่มีไข่อ่อน ซึ่งจะผลิตพิษโดยพิษจะสะสมอยู่ในอวัยวะภายใน พิษของปลาจะเพิ่มมากขึ้นในฤดูวางไข่ ลักษณะอาการของผู้บริโภคปลาปักเป้าพิษจะกำเริบขึ้น หลังจากได้รับพิษจากปลาอาการพิษที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 4 ขั้น คือ ขั้น1 ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน กระสับกระส่าย ขั้นที่ 2 ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้ ขั้นที่3 เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ขั้นที่4 กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่ทนพิษไม่ได้ อาการอาจแรงขึ้นจากขั้นแรกถึงขั้นที่สี่และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยสามารถทนพิษได้อาจอยู่ได้นานถึง 24 ชม.ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงหากถึงมือแพทย์”นายจุมพล กล่าว

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าถึงแม้จะนำปลาปักเป้ามาต้มแล้ว แต่พิษของปลาที่ละลายในน้ำก็จะทนความร้อนได้สูงถึง170 องศาเซลเซียส แม้หุงต้มแล้วก็ยังคงความเป็นพิษอยู่ อีกทั้งผู้บริโภคควรระมัดระวังในการเลือกซื้อเนื้อปลาแล่มาแล้วตามแผงในตลาด สดด้วย

“ขณะนี้ยังไม่มีตัวยาใดๆสามารถแก้พิษปลาปักเป้าได้ แม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตและหากสงสัยว่าได้รับพิษ จากปลาปักเป้าให้รีบขจัดพิษในเบื้องต้นด้วยการหาซื้อผงถ่านจากร้านขายยาทั่ว ไปมารับประทานเพื่อดูดพิษในร่างกาย และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และข้อสำคัญคือไม่ควรรับประทานปลาปักเป้าเป็นอาหาร เพราะยังมีสัตว์น้ำหลายชนิดให้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีอันตราย”นาย จุมพล กล่าว

ดังนั้นผู้ขายควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและ ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค

เพื่อจะได้ไม่เห็นข่าวพี่น้องของเราต้องเสียชีวิตลงเพราะปลาปักเป้าอีกต่อไป โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264 ) พ.ศ. 2545 เรื่อง การกำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า และจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผู้ที่ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึง สองปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท

ทั้งนี้กรมประมงมีการวิจัยพิษปลาปักเป้าน้ำจืดโดย รวบรวมปลาปักเป้าน้ำจืดจาก

แหล่งน้ำต่างๆ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำมาศึกษาพบปลาปักเป้ามีพิษ ได้แก่ ปลาปักเป้าดำ (Tetraodon nigroviridis) พบว่าพิษของปลาปักเป้าน้ำจืดแพร่กระจายอยู่ในทุกส่วนของร่างกายทั้งในเนื้อ เยื่อ หนังและอวัยวะภายใน เช่น ตับ และไข่ของมันด้วย ส่วนความรุ่นแรงของพิษแตกต่างกันไปตามฤดูกาลและสถานที่จับ ซึ่งพบว่า พิษของปลาปักเป้าน้ำจืดเป็นพิษที่เรียกว่า พีเอสพี (Paralytic Shellfish Poison, PSP) หรือพิษอัมพาต ซึ่งแตกต่างจากพิษปลาปักเป้าทะเลที่ชื่อ “เททโทรโดท๊อกซิน” (Tetrodotoxin, TTX) ซึ่งพิษทั้ง 2 ชนิดนี้มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกัน แต่แสดงอาการเหมือนกัน.


เตือนภัยห้ามเปิปปักเป้าทุกชนิดฤดูวางไข่


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์